เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ความคืบหน้าในเรื่องการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดหนัก เพราะมีความคุณสมบัติพิเศษสามารถอาศัยอยู่ได้ในสภาพน้ำทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำเน่าเสีย และยังผสมขยายพันธ์ได้ทุก 22วัน/ครั้ง กินทั้งพืชและสัตว์น้ำ รวมทั้งพฤติกรรมการอมไข่อมลูกขนาดเล็กไว้ในปากเพื่อหนีภัยศัตรูแล้ว และยังมีการระบุข้อมูลว่าปลาหมอคางดำ มีไข่ 4 ฝักหรือ 4 แถวในขณะที่ปลาอื่น ๆ มีไข่แค่ 2 แถวหรือ 2 ฝัก ทำให้สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้มาและรวดเร็วกว่าปกติ

เกี่ยวกับเองนี้นางสมจิตร อ่อนเกตุผล หรือ “ป้าจิตรบ้านหน้าโกฐ” อายุ 74 ปี ชาวจ.นครศรีธรรมราช พร้อมครอบครัวซึ่งยึดอาชีพจับปลาหมอคางดำขายและแปรรูปต่อเนื่องมาเกือบ 3 ปี โดยเฉพาะนางสมจิตร และนางวาสนา อ่อนเกตุพล บุตรสาว ที่ทั้งจับปลาหมอคางดำด้วยตนเองแล้ว ยังต้องเป็นผู้นำปลาหมอคางดำมาแปรรูปด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งต้องผ่าท้องและตัดหัวผปลาหมอคางดำมาแล้วหลายหมื่นตัว ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าที่มีการระบุว่าปลาหมอคางดำมีไข่ถึง 4 ฝัก มากกว่าปลาชนิดอื่น ๆ ที่มีไข่แค่ 2 ฝักหรือ 2 แถว และนำผู้สื่อข่าวไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงทันที

โดยสองแม่ลูกได้นำปลาหมอคางดำที่ลูกเขย 2 คนจับมาได้มาเข้าสู่กระบวนการ “ทำปลา” เริ่มจากตัดคีบ ตัดหาง ขูดเกล็ด ตัดหัว ผ่าหลัง ควักเอาไส้และอวัยวะภายในออก ซึ่งพบชัดเจนว่าปลาหมอคางดำมีไข่เพียง 2 ฝัก หรือ 2 แถวเหมือนกับปลาอื่น ๆ ไม่ได้มี 4 ฝักหรือ 4 แถวตามที่มีการระบุและวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้

ในขณะที่นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกร อ.ปากพนัง กล่าวว่า แม้รัฐบาลและกรมประมงมีมติให้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำและให้แต่ละจังหวัดเสนอกิจกรรมที่จะดำเนินการและขออนุมัติงบประมาณสนับสนุน โดยทางประมงจังหวัดเสนอของบประมาณ 2.9 ล้านบาท และยังไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจึงไม่รู้ว่าจะได้งบหรือไม่ เมื่อไหร่และจำนวนเท่าไหร่ แต่ในขณะที่รองบประมาณสภาเกษตรกรและภาคเอกชนประกอบด้วยสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง ชมรมกุ้งสงขลา-นครศรี และเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งในพื้นที่คงอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลยคงไม่ได้ จึงได้จัดงบประมาณสนับสนุนการจัดกิจกรรมในวันที่ 14 ก.ค.นี้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้ลดน้อย ไม่ขยายวงกว้างออกไปมากกว่านี้ และในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไปหากต้องรองบประมาณล่าช้าออกไปจนเข้าสู่ฤดูฝนการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำจะขยายพื้นที่กว้างขวางจนยากแก่การควบคุม

“การแก้ปัญหามีหนทางเดียวคือควรให้จังหวัดจะประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน “พื้นที่สีแดง” เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดงบประมาณลงมาสนับสนุนการกำจัดปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดในพื้นที่ของตัวเองได้ อยากจะกราบวิงวอนประมงจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชโปรดตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ด้วยเถิด อย่าปล่อยให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำสุ่มเสี่ยงและเผชิญชะตากรรมต่อไปอีกเลย”

นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้สภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช มีมติว่าในการรับซื้อปลาหมอคางดำที่ชาวบ้านจับได้ในวันที่ 14 ก.ค.67 กรมประมง และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรตั้งจุดรับซื้อ กก.ละ 20 บาทเหมือนที่ทุกจังหวัด อาทิ สงจลา สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เขาก็กำหนดราคารับซื้อ กก.ละ 20 บาททั้งนั้น แม้แต่เอกชนในพื้นที่ อ.ปากพนัง-หัวไทร เขาก็รับซื้อ กก.ละ 17-20 บาท