เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “เปิดบ้านวิชาการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (SMTE)” เครือข่ายภาคใต้ตอนบน ครั้งที่ 14 ประจำปีการศึกษา 2567 พร้อมมอบโล่แก่ผู้บริหาร ผู้ประสานงานเครือข่าย จำนวน 24 โรงเรียน เยี่ยมชมการแข่งขันโครงงาน และการจัดนิทรรศการจากทุกโรงเรียน โดยมี นายณรงค์ ศรีละมุน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพัทลุง กล่าวต้อนรับ นายณัฐวุฒิ รัตนอรุณ ผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชูทิศนครศรีธรรมราช ในฐานะโรงเรียนแม่ข่ายฯ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตพื้นที่ สพป. เขต 1 และ 2 นางสาวนันทรัตน์ ไพรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีพัทลุง นายบันเทิง วรศรี ที่ปรึกษาโรงเรียนสตรีพัทลุง นายสุนาจ แก้วสุข ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนสตรีพัทลุง นายชูศักดิ์ วรศรี ประธานชมรมครูเก่าโรงเรียนสตรีพัทลุง นางกนิษฐา โยมทรัพย์ นายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสตรีพัทลุง นายธนิต สมแก้ว นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสตรีพัทลุง นายสุชาติ ฉิมรักษ์ ประธานเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสตรีพัทลุง รวมถึงคณะครูและนักเรียน เข้าร่วมงานอย่างคึกคัก ณ โรงเรียนสตรีพัทลุง จังหวัดพัทลุง
.
นางเกศทิพย์ กล่าวว่า ตนตั้งใจมางานเปิดบ้านวิชาการฯ เพราะอยากเห็นผลงานของนักเรียน ที่ร่วมกันจัดทำออกมาด้วยความตั้งใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ และสิ่งสำคัญ คือ การคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ มีเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผลทำให้ครบองค์ประกอบ เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้นักเรียนคิดทะลุออกมาจากการจัดการเรียนการสอนได้ โดยตนเชื่อมั่นว่าเครือข่ายภาคใต้ตอนบน จากผลงานของนักเรียนที่นำมาแสดงในการจัดงานครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงความเข้มแข็งของเครือข่าย เห็นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทั้ง 24 โรงเรียน เห็นคุณภาพที่ถึงตัวนักเรียนด้วยสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน และความเข้มแข็งอีกอย่าง คือ การอยู่ร่วมกันของเครือข่ายของโรงเรียนสตรีพัทลุง ที่ผู้อำนวยการโรงเรียนและทีม สามารถดึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน และเครือข่ายนำสิ่งดีๆ ที่เกิดจากความรัก ความหวงแหน ความภาคภูมิใจไปประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาในโรงเรียนได้
.
นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ด้วยนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึง ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีสมรรถนะอย่างเต็มตามศักยภาพ มีความสามารถทัดเทียมได้ในระดับสากล เมื่อมาดูภายในงานได้เห็นวงออร์เคสตรา วงดนตรีพื้นบ้าน รำมโนราห์ ที่ยังอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านไว้อย่างดีเยี่ยม ความลงตัวในจุดนี้จึงมองได้เลยว่าหากเครือข่ายไม่เข้มแข็งจะไม่สามารถสร้างเด็กในโรงเรียนเดียวที่มีทั้งวงที่เป็นอินเตอร์ และวงที่คงอารยธรรมที่ดีงามไว้ได้ ซึ่งจากที่ตนได้พูดคุยกับนักเรียน พบว่า เด็กแต่ละคนยิ้มแย้ม เป็นตัวของตัวเอง มีชีวิตชีวา อยู่ในกรอบกติกาที่มีกาลเทศะที่น่ารัก การเรียนหนักไม่ส่งผลทางอารมณ์กับนักเรียน นอกจากนี้ยังเห็นถึงความทุ่มเทของครู การยิ้มแย้ม แสดงว่าอยู่ที่นี่แล้วมีความสุข ซึ่งรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้สะท้อนว่า เด็กได้รับการพัฒนาที่ครบองค์รวมไม่ใช่วิชาการเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่เฉพาะสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ที่เป็นเป้าหมายหลักของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงขอชื่นชมโรงเรียนและเครือข่ายที่ไม่ได้สร้างเด็กเฉพาะเรื่องวิชาการ แต่หล่อหลอมเด็กไปสู่พฤติกรรมที่ดีและแสดงออกมาอย่างน่าภูมิใจ
.
“ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี มีบทบาทมาก และยิ่งอนาคตถ้าฐานความคิดของนักเรียนยังไม่เข้มแข็งก็จะไปเจออะไรอีกมากมายในโซเชียล ดังนั้น ภูมิคุ้มกันดีที่สุด คือ สิ่งที่ติดอยู่กับตัวนักเรียน เราต้องหล่อหลอมสร้างให้นักเรียนมีความเข้มแข็งทางความคิด มีสติ สามารถเสพสื่อได้อย่างรู้เท่าทัน การอ่านที่พัฒนาไปสู่ความคิด วิเคราะห์ การจับประเด็น โยงเหตุและผล และนำไปสู่การตัดสินใจ ถ่ายทอดออกมาได้อย่างรู้เรื่อง เมื่อเราสร้างเด็กที่มีการพัฒนาความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลแล้ว ต่อไปเมื่อเติมคอนเทนต์ให้เด็กนิดเดียว เด็กก็สามารถไปแสวงหาองค์ความรู้ตามความถนัดและความสนใจของแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อต่อยอดด้วยตัวของเขาเองอย่างมีคุณภาพ การให้เด็กได้แค่ความรู้ออกจากรั้วโรงเรียนไม่เพียงพอ เราต้องมีเรื่องกระบวนการหล่อหลอมให้เด็กสามารถพัฒนาได้หลายมิติ ซึ่งเด็กแต่ละคนมีเป้าหมายชีวิตที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจะทำอย่างไรจึงจะดึงเป้าหมายให้ตรงกับสิ่งที่เด็กอยากเป็น ตรงกับสิ่งที่เด็กถนัด และเติมสิ่งที่เด็กยังขาดอยู่ เพื่อให้เด็กมีอนาคตที่ดี พร้อมลุยทุกสถานการณ์ได้อย่างมั่นคง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ทั้งนี้ งาน “เปิดบ้านวิชาการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (SMTE)” เครือข่ายภาคใต้ตอนบน ครั้งที่ 14 ประจำปีการศึกษา 2567 จัดระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2567 โดยมีโรงเรียนในเครือข่าย SMTE ภาคใต้ตอนบน 9 จังหวัด 24 โรงเรียน เข้าร่วม ได้แก่ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช โรงเรียนสตรีทุ่งสง โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ นครศรีธรรมราช โรงเรียนสุราษฎร์ธานี โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย สุราษฎร์ธานี โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 64 จังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงเรียนศรียาภัย โรงเรียนสอาดเผดิมวิทยา โรงเรียนสวนศรีวิทยา โรงเรียนพิชัยรัตนาคาร โรงเรียนสตรีระนอง โรงเรียนดีบุกพังงาวิทยายน โรงเรียนตะกั่วป่า “เสนานุกูล” โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย โรงเรียนสตรีภูเก็ต โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ภูเก็ต โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่ โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง โรงเรียนวิเชียรมาตุ โรงเรียนพัทลุง และโรงเรียนสตรีพัทลุง