นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลไทยและจีน เห็นชอบข้อตกลงทวิภาคีในการยกเลิกข้อกำหนดด้านวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเที่ยวบินไทย-จีน มีสัดส่วนที่สูงสุดคือ 20% ของปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมด ซึ่งตั้งแต่เดือน ต.ค. 66- พ.ค. 67 (8 เดือน) ปริมาณเที่ยวบิน ไทย-จีน รวม 55,433 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 213% และคาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 67 จะมีปริมาณเที่ยวบินไทย-จีน รวม 86,150 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นทั้งปี 126%

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสนามบินในประเทศไทยที่มีเที่ยวบินจากจีนมาทำการบิน ประกอบด้วย สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย และกระบี่ โดยมีทั้งเที่ยวบินขนส่งสินค้า และเที่ยวบินรับ-ส่งผู้โดยสารซึ่งขณะนี้หลายสายการบินได้กลับมาให้บริการในเส้นทางบิน ไทย-จีน และมีการขอเพิ่มเที่ยวบินไปยังจุดหมายปลายทางที่เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ เฉิงตู ซึ่งประเทศไทยเตรียมขยายตลาดทางการบินรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ สำหรับสนามบินในประเทศไทยที่มีเที่ยวบินไป-กลับ เฉิงตู ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และสมุย ซึ่งในช่วง 8 เดือน ที่ผ่านมา มีเที่ยวบินไป-กลับ เฉิงตู รวม 5,896 เที่ยวบิน และคาดการณ์ตลอดทั้งปี 67 จะมีเที่ยวบินไป-กลับ เฉิงตู รวม 8,850 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 265%

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ได้มอบหมายให้ บวท. เร่งขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน ซึ่งปัจจุบัน บวท. อยู่ระหว่างจัดสร้างเส้นทางบินใหม่ให้เป็นแบบเส้นทางบินคู่ขนาน (Parallel Route) รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการการจราจรทางอากาศ อีกทั้งปรับปรุงระบบเทคโนโลยี ปรับปรุงโครงสร้างห้วงอากาศ และแนวทางบริหารจัดการ ให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบิน และนักท่องเที่ยวให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย 

นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้ บวท. เตรียมความพร้อมระบบการบริหารจัดการจราจรทางอากาศใหม่ และจัดเตรียมสถานที่สำหรับติดตั้งระบบใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินประมาณ 2 ล้านเที่ยวบิน ในปี 81 โดยให้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรปรับปรุงเส้นทางบิน และออกแบบห้วงอากาศให้เหมาะสม รวมทั้งนำแนวทางปฏิบัติการบริหารจัดการความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (ATFM) มาใช้บริหารจัดการเที่ยวบิน และเตรียมวางระบบบริหารจราจรทางอากาศสำรอง (Off-site Backup) ตามแผนรองรับภาวะฉุกเฉินด้านบริการจราจรทางอากาศ เพื่อให้บริการได้อย่างต่อเนื่องด้วยความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ 

เป็นการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีระบบการบริหารจัดการจราจรทางอากาศที่มีศักยภาพเป็นไปตามมาตรฐาน และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการบินของโลก ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม บวท. ได้เตรียมพร้อมยกระดับการให้บริการทุกด้าน โดยใช้ศักยภาพและความเชี่ยวชาญด้านการบินที่มีอยู่เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างประโยชน์และสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้ประเทศชาติ ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub)

ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ประธานคณะกรรมการ บวท. กล่าวว่า บวท. ได้เตรียมความพร้อมและกำหนดมาตรการให้บริการจราจรทางอากาศ รวมทั้งบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Flow Management) เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้น และอำนวยความสะดวกให้กับทุกเที่ยวบินที่เข้ามาในน่านฟ้าไทยที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความปลอดภัยสูงสุด ทั้งนี้ได้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานทางวิ่ง หรือ High Intensity Runway Operation (HIROs) ซึ่งเป็นการจัดระยะห่างของอากาศยานขาเข้าและขาออก ให้ได้เทียบเท่าสนามบินชั้นนำของโลก ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้สูงสุดเท่าที่ขีดความสามารถของสนามบินจะรองรับได้ 

อีกทั้งได้นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการเที่ยวบินขาเข้าคือ ระบบ Arrival Manager (AMAN) และการจัดการเที่ยวบินขาออกด้วยระบบ Intelligent Departure (iDep) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ และทำให้เที่ยวบินสามารถทำการบินได้ตรงเวลาตามตารางการบิน เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้มากที่สุด

ขณะที่นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า บวท. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระยะเริ่มต้น (Phase 0) เพื่อสนับสนุนการบิน มุ่งเน้นการขนส่งสินค้าทางอากาศจากเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะเที่ยวบินจากจีน และการพัฒนาส่งเสริมให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในอนาคต และจะทำให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจ โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation ซึ่งได้นำแนวคิด Aerotropolis นี้ มาจากต้นแบบคือ สนามบินนานาชาติเฉิงตู เทียนฟู่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งการที่ บวท. ต้องให้บริการในระดับสากล จึงจำเป็นต้องมาศึกษาเรียนรู้ข้อมูล การพัฒนาเทคโนโลยี การบริหารจัดการสนามบินต่าง ๆ เพื่อพัฒนาบริการของ บวท. ในทุกด้านต่อไป.