เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 67 นายวิสูตร นาคขันทอง อายุ 58 ปี ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบนพื้นที่ 20 ไร่ หมู่ 4 ต.บางจะเกร็ง อ.เมือง จ.สมุทรสงครามใกล้กับดอนหอยหลอด กล่าวถึงปัญหาปลาหมอคางดำ ว่าระบาดเข้ามาในพื้นที่เกือบ 10 ปีแล้ว สร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสและตนก็เริ่มจะหมดทุน ล่าสุดตนเลี้ยงกุ้งกุลาดำและปูทะเลในบ่อระบบปิด มีการผันน้ำทะเลเข้าบ่อ ปกติจะมีสัตว์น้ำธรรมชาติติดเข้ามาด้วยถือเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรริมทะเลซึ่งเป็นเรื่องปกติ หลังจากปล่อยน้ำเข้ามาพักไว้ระยะหนึ่งก็ซื้อลูกกุ้งมาปล่อย 60,000 ตัว พร้อมปูทะเลจำนวนหนึ่ง เลี้ยงด้วยอาหารตามปกติ ผ่านไป 6 เดือนเปิดบ่อจับกุ้งลมแทบจับเหลือกุ้งให้จับแค่ 10% นอกนั้นเป็นปลาหมอคางดำ ส่วนปูทะเลแม้จะใส่กะชังเลี้ยงแต่ก็ไม่วายถูกกัดก้ามแหว่งขาด้วนก็มี

นายวิสูตร กล่าวว่า 7-8 ปีก่อนที่ปลาหมอคางดำยังไม่แพร่ระบาด บ่อเลี้ยงกุ้ง 20 ไร่นี้ตนเคยจับกุ้งกุลาและปลาธรรมชาติได้ถึง 4-5 ตัน ปัจจุบันเป็นปลาหมอคางดำกว่า 2 ตัน ที่สำคัญ โรงงานไม่รับซื้อ เพราะตนใส่กากชา ตามที่มีผู้แนะนำว่ากากชาจะไปฝังในเหงือกปลาหมอคางดำตัวใหญ่ที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ทำให้หายใจไม่ออกและตายได้ ที่จับได้จึงต้องทำลายทิ้ง เพราะหากเอาไปทำเหยื่อปลากะพงหรือปูทะเลกากชาที่ปะปนจะทำให้ตายได้เช่นกัน ช่วงนี้จึงแก้ปัญหาแบบเอาตัวรอดไปก่อนโดยใช้วิธีอนุบาลลูกกุ้งและลูกปลากะพงที่ซื้อมาในกระชังประมาณ 1 เดือนเลี้ยงอาหารเต็มที่จนตัวโตจึงปล่อยลงบ่อเลี้ยงจะได้ไม่เป็นเหยื่อให้ปลาหมอคางดำไล่จับกินได้ง่ายๆ แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มากนัก เพราะลูกปลาหมอคางดำเกิดเร็วมาก ขนาดพ่อแม่พันธุ์จะตายยังพ่นไข่ที่อมในออกมาไม่นานไข่ปลาจะฝักตัวเกิดลูกปลาเต็มบ่ออีกเหมือนเดิม

นายวิสูตร กล่าวอีกว่าที่ผ่านมาตนหาวิธีกำจัดปลาหมอคางดำมาหลายวิธีแล้ว เช่น ซื้อปลากะพงขนาด 3 นิ้วมาปล่อย 10,000 ตัว หมดเงินไป 350,000 บาท เพื่อจะให้กินลูกปลาหมอคางดำ แต่สุดท้ายก็สู้ไม่ไหวเพราะปลากะพงบางตัวที่โตช้าก็เป็นเหยื่อให้กับปลาหมอคางดำที่ตัวใหญ่เช่นกัน พอ 6 เดือนเปิดบ่อเหลือปลากะพงให้จับแค่ 5,000 ตัว น้ำหนัก 3 ตันหรือ 3,000 กิโลกรัม แถมน้ำหนักปลากะพงยังหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุเหลือตัวละ 7-9 ขีดทั้งที่ควรจะหนักตัวละ 1 กิโลกรัมขึ้นไป จับขายก็ได้แค่ทุนคืน แต่ขาดทุนทั้งค่าอาหารและค่าไฟฟ้าที่ใช้ปั่นออกซิเจนในบ่ออีก

ส่วนกรณีจะผลักดันให้การกำจัดปลาหมอคางดำเป็นวาระจังหวัดนั้น นายวิสูตร บอกว่าตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง และควรจะเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพราะข่าวว่าตอนนี้ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดไปภาคใต้แล้ว ที่อยากให้ภาครัฐเร่งช่วยเหลือตอนนี้ก่อนคือ สนับสนุนปลากะพงตัวโตขนาด 3 นิ้วขึ้นไป แจกผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อนำมาปล่อยในบ่อเลี้ยงให้ไล่ล่ากินปลาหมอคางดำ และขอให้รัฐช่วยลดค่าไฟฟ้าตอนนี้แต่ละเดือนค่าไฟฟ้าที่ใช้ปั่นออกซิเจนในบ่อเลี้ยงกุ้งสูงมาก อีกทั้งอยากให้กรมประมงวิจัยไข่ของปลาหมอคางดำด้วยว่าจะทำอย่างไรถึงกำจัดได้ทั้งตัวพ่อแม่พันธุ์และไข่ ทำยังไงให้ไข่ฝ่อตายไปด้วย เพื่อการกำจัดปลาหมอคางดำจะได้ลดลงแบบได้ผล.