จากกรณีภาคเอกชนและภาครัฐจับมือร่วมกันแก้ไขปัญหา “ปลาหมอคางดำ” ที่กำลังแพร่ระบาดในแหล่งน้ำในหลายพื้นที่จังหวัดทางภาคกลางและภาคใต้ 16 จังหวัดจนเรียกว่าเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” เมื่อหลุดไปในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำก็ยังไปแย่งอาหารและกัดกินสัตว์น้ำจนแทบไม่เหลือ เป็นตัวทำลายอาชีพประมงอย่างแท้จริง ล่าสุดมีการหารือจัดทำงบประมาณ ไปจนถึงร้องขอให้เป็นวาระจังหวัดเพื่อเร่งกำจัด “ปลาหมอคางดำ” โดยประกาศจับตายเริ่มในวันที่ 14 ก.ค. 67 ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกร อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ได้นำสื่อมวลชนเดินทางไปยังบ้านของ นางสมจิตร ดีชู หรือ “ป้าจิตร” อายุ 74 ปี อยู่บ้านเลขที่ 77/1 หมู่ 7 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งในปัจจุบัน “ป้าจิตร” และครอบครัวได้หันมายึดอาชีพจับปลาหมอคางดำขายสด ๆ และยังแปรรูปปลาหมอคางดำในรูปแบบต่าง ๆ สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอย่างงาม

โดย “ป้าจิตร” เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตนและสมาชิกในครอบครัวหันมาจับปลาในบ่อบำบัดน้ำเสีย เนื้อที่ 184 ไร่ของโครงการชลประทาน เพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฏิ หมู่ที่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ปรากฏว่า สามารถจับ “ปลาหมอคางดำ” ได้ครั้งละมาก ๆ แต่ในตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นปลาหมอคางดำคิดว่าเป็นปลานิล หรือปลาหมอเทศพันธุ์ใหม่ ไม่ทราบเลยว่าจะเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” จากต่างแดน

ตอนแรกที่ทราบข่าวว่าทางสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งปากพนัง ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรี และประมงจังหวัด รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะกำจัด “ปลาหมอคางดำ” ทั้งหมด โดยจะมีการใช้กากชาและสารเคมีโรยฆ่าปลาหมอคางดำให้ตายยกบ่อ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ตนและครอบครัวรวมทั้งเพื่อนบ้านที่ประกอบอาชีพจับปลาหมอคางดำ ตกใจมาก ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว โดยคิดว่าตนและครอบครัวจะหมดหนทางการประกอบอาชีพทำกิน ส่งผลกระทบต่อรายได้ ความเป็นอยู่ของครอบครัวตนเดือดร้อนอย่างแน่นอน

จนกระทั่ง นายไพโรจน์ และสื่อมวลชนเข้ามาอธิบายชี้แจงให้ทราบถึงมหันตภัยร้ายแรงของปลาหมอคางดำที่กระทบต่อระบบนิเวศ รวมทั้งปลาและสัตว์น้ำในท้องถิ่นอย่างรุนแรง หากปล่อยไว้ต่อไปจะไม่เหลือปลาหรือสัตว์น้ำในท้องถิ่นหลงเหลืออีกเลย และยังชี้แจงถึงโทษตามกฎหมายหากใครลักลอบหรือแอบเลี้ยงปลาหมอคางดำมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับสูงถึง 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อ นายไพโรจน์ และสื่อมวลชนยืนยันว่า จะไม่มีการใช้กากชาหรือสารเคมีโรยฆ่าปลาหมอคางดำแบบให้ตายยกบ่อ แต่จะใช้วิธีการจับโดยใช้เครื่องมือประมงรูปแบบต่าง ๆ เช่น ทอดแห ยกยอ ดักอวน ล้อมอวน ลากอวน ตนและชาวบ้านเห็นด้วยและดีใจเป็นอย่างมาก

นางสมจิตร กล่าวอีกว่า ตนยืนยันว่าตน สมาชิกในครอบครัวและชาวบ้านพร้อมจะให้ความร่วมมือและร่วมโครงการจับปลาหมอคางดำ ในวันที่ 14 ก.ค.นี้อย่างเต็มที่ โดยจะร่วมในการไล่ล่าจับปลาหมอคางดำด้วย และตนจะทำเมนูปลาหมอคางดำหลายเมนูให้เจ้าหน้าที่และคนที่มาร่วมกิจกรรมได้รับประทานกัน เช่น ขนมจีนน้ำแกงปลาหมอคางดำ ปลาหมอคางดำแดดเดียว ปลาเปรี้ยว และที่สำคัญคือการนำ “เคย” หรือ “กะปิ” จากปลาหมอคางดำ สูตรลับเฉพาะของ “ป้าจิตร บ้านหน้าโกฏิ” มาประกอบอาหารเมนูต่าง ๆ ได้เหมือนกับเคยหรือกะปิทั่ว ๆ ไป แต่เคยปลาหมอคางดำสูตรของตนจะมีความเอร็ดอร่อยเป็นพิเศษ

สำหรับวิธีการทำ “เคยปลาหมอคางดำ” ตามสูตร “ป้าจิตร บ้านหน้าโกฏิ” เริ่มจากการไปจับปลาหมอคางดำมาจากแหล่งน้ำ นำมาขูดเกล็ด ตัดครีบ หาง และหัวออก ก่อนจะควักเอาเครื่องในออก แช่น้ำไว้ 5-6 ชม. เพื่อให้ปลาพอง จากนั้นจึงแกะหนังที่เป็นสีดำ ๆ ออกให้หมด และนำเกลือมาคลุกซาวให้ทั่ว นำไปใส่ในภาชนะทำการหมักหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “อับ” ทิ้งไว้ 1-2 วัน จากนั้นนำไปแผ่ตากแดดให้พอแห้งหมาด ๆ ก่อนจะนำเกลือมาโรยซ้ำและใส่ครกตำ หรือชาวบ้านเรียกว่า “เช” ให้เกลือและเนื้อปลามีความเค็มทั่วถึงกันและนำไปบรรจุในไหหรือชาวบ้านเรียกว่า “เนียง” หมักหรืออับไว้ 15-20 วัน ก่อนจะนำออกมาแผ่ตากแดดอีกครั้งให้พอแห้งหมาด ๆ นำมาตำหรือเชอีกครั้ง

จากนั้นนำไปหมักใส่ไหนาน 1 เดือน นำออกมาตำอีกเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนนำไปหมักในไห โดยนำผ้าสะอาดมาปิดฝาไหให้แน่น เรียกว่าการ “ขัดน้ำ” รอจนน้ำที่เหลือในเคยหรือกะปิซึมขึ้นมาอยู่ด้านบนผ้าปิดปากไหจนหมด จึงเทน้ำจากปากไหออก ก่อนจะแกะผ้าเปิดไหตักเคยหรือกะปิออกมา จะพบว่าเคยหรือกะปิจะมีสีขาวเทา สะอาด และมีกลิ่นหอมมาก ทำการใส่ถุงชั่งกิโลขายในราคากิโลกรัมละ 150 บาท ตนรับประกันความอร่อย สนใจสั่งซื้อ 095-5821592