เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายภัทรพงศ์ ศุภักษา หรือทนายอั๋น บุรีรัมย์ เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้มีคำสั่งให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ครั้งนี้เป็นโมฆะ และจัดการเลือกสว.ใหม่ โดยนายภัทรพงศ์ กล่าวว่า กระบวนการเลือกสว.ครั้งนี้มีการทุจริตคอร์รัปชัน มีการโกงกันมโหฬาร โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาตนได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา กรณีที่นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. อ้างว่าคำพิพากษาของศาล 185/2567 ที่ระบุว่าใครจะมีอาชีพอะไรก็แล้วแต่สามารถสมัครกลุ่มใดก็ได้ในจำนวน 20 กลุ่ม หากผู้พิพากษาตอบกลับมาว่าไม่ได้เป็นในทำนองเดียวกันกับที่นายแสวง ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถือว่างานนี้สนุกแน่นอน การเลือกสว.ครั้งนี้มีหลากหลายปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการเลือกสว.ที่เข้าข่ายการทุจริต ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ที่ประสงค์อยากให้คนที่มีความรู้ความสามารถในหลากหลายอาชีพ เข้ามาช่วยกันพัฒนาประเทศในฐานะที่เป็นสว.

”มีหลายเหตุผลที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม  ทั้งกรณีเรื่องบ้านใหญ่ การฮั้วกัน การลงคะแนนของผู้สมัครที่ไม่ลงให้ตัวเอง หรือเรื่องคุณสมบัติผู้สมัคร สว. วันนี้จึงอยากให้ทบทวนการเลือกสว. โดยประกาศให้เป็นโมฆะ และเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว อย่าให้สว. 250 คน ต้องยิ้มหวาน“นายภัทรพงศ์ กล่าว

นายภัทรพงศ์ กล่ายอีกว่า กระบวนการเลือกที่ จ.บุรีรัมย์ นั้นมีเหตุการณ์ที่มีพิรุธหลายคน เช่น คนขับรถให้ตระกูลดัง จ.บุรีรัมย์ ได้เป็นสว. หรือแม้ผู้สมัครอายุ 51 ปี รับทำพิธีศาสนาทั่วไป ประวัติการศึกษาจบประถมศึกษาปีที่ 6 ประวัติการทำงานเป็นมัคทายก ซึ่งคนระดับนี้ผ่านการเลือกแต่ละระดับได้รับเลือกเป็น สว.บุรีรัมย์ รวมถึงคนอื่นๆ ที่มีประวัติการทำงานและประวัติการศึกษาที่ไม่สอดรับกับความเหมาะสม จึงทำให้จ.บุรีรัมย์กลายเป็น“บุรีรัมย์โมเดล”ที่มีสว.จำนวนมากที่สุดถึง 14 คน  ทั้งนี้โดยจะแจ้งความดำเนินคดีกับทุกคนที่เป็นผู้สมัคร สว.ของ จ.บุรีรัมย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ว่ามีการจดแจ้งข้อความในเอกสารราชการใบสว. ซึ่งเป็นเอกสารราชการในข้อความที่เป็นเท็จไม่ตรงกับความเป็นจริง ให้กลายเป็น“บุรีรัมย์โมเดล”

นายภัทรพงศ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ตนอยากให้การรับรองคุณวุฒิของผู้สมัครสว. มีมาตรฐาน เช่น ตนเป็นทนายความ ผู้ที่จะต้องรับรองตนคือประธานสภาทนายความประจำจังหวัดนั้นๆ หรือนายกฯสภาทนายความ แต่การเลือกสว.ครั้งนี้ เพียงแค่รู้จักกันก็สามารถรับรองให้กันได้ มันง่ายเกินไปหรือไม่ และปัจจุบันยังไม่มีการพิจารณาตัดคุณสมบัติของผู้สมัครที่ไม่ตรงกลุ่มเลย เห็นได้ชัดกรณีคนขับรถให้ตระกูลดัง จ.บุรีรัมย์ ดูคุณวุฒิก็ไม่เข้ากับคุณสมบัติ ทั้งนี้ อาชีพหมายถึงคนที่ทำงานต่อเนื่องในลักษณะที่ก่อให้เกิดรายได้ คนที่เป็นหมอธรรม เป็นจิตอาสา เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะเข้าข่ายเป็นที่มาของรายได้อย่างไร