ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 ก.ค. นายรราชันย์ บัวตรี หัวหน้าโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านห้วยเมืองงาม เป็นประธานเปิดกิจกรรมยุวชลกรเรียนรู้งานชลประทาน ประจำปี 2567 โดยมี นายทวีรัชต์ จันที หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 7 โครงการชลประทานเชียงใหม่ นายชยกร นนตานอก หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการใช้น้ำ ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดสรรน้ำโครงการชลประทานเชียงใหม่ นายนิวัฒน์ วิยะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสุขฤทัย นางมัณฑนา วิยะ รองผู้อำนวยการโรงเรียน พร้อมด้วยคณะครู นำนักเรียนจากโรงเรียนบ้านสุขฤทัย ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 30 คน เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้

ภายในกิจกรรมได้สร้างองค์ความรู้ให้กับกลุ่มนักเรียนของโรงเรียนบ้านสุขฤทัย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เข้าร่วม โดยเปิดคลิปองค์ความรู้การบริหารจัดการ ความเป็นมาของการสร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างเขื่อน การสร้างฝาย และคลิปแนะนำถึงความเป็นมาของยุวชลกร ที่ถือว่าเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งที่สามารถเข้าร่วมช่วยเหลือให้การทำงานของภาครัฐดำเนินไปด้วยดี ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเป็นคนกลางในการสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนถึง แนวทางการดำเนินงานและนโยบายของภาครัฐ รวมไปถึง เป็นกำลังสำคัญในการ ถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนได้ดี ซึ่งการจัดฝึกอบรมยุวชลกรเรียนรู้งานชลประทาน ทำให้ยุวชลกรได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของน้ำ ความสำคัญของการชลประทาน โดยเน้นให้เกษตรกรรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ และระบบชลประทาน เพราะการปฏิบัติงานด้านการจัดสรรน้ำ และบำรุงรักษาที่ดีนั้นจะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมในภารกิจร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มเกษตรกร ดังนั้น บทบาทของยุวชลกรในอนาคต จะสามารถเรียนรู้และทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดวิทยาการด้านการเกษตรในชุมชน อีกทั้งจะเป็นการปลูกฝังให้เกิดจิตสำนึกที่ดี เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อประชาชนและเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนเกษตรกรของตนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ภายหลังการเปิดอบรมหลักสูตร ก็ได้จัดกิจกรรมให้กลุ่มเด็กๆ ด้วยการจัดฐานการเรียนรู้ทั้งหมด 3 ฐาน แบ่งกลุ่มออก 3 กลุ่มกลุ่ม 10 คน ฐานแรกเป็นการใช้เชือก เพื่อขนถ่ายขวดน้ำไปยังจุดหมายปลายทาง โดยไม่ใช้มือช่วย การตักน้ำด้วยมือแล้วส่งต่อให้เพื่อน เพื่อนไปใส่ในกระบอกน้ำที่อยู่ปลายทาง และการใช้ตะเกียบคีบไข่ไปลงในตระกร้าที่เตรียมไว้ ฐานการเรียนรู้ทั้งหมดเพื่อให้เด็กๆ รู้จักวิธีการวางแผนในการขนย้ายการส่งน้ำ การค้นหาวิธีที่จะส่งน้ำไปให้ถึงปลายทางได้เร็ว และส่งน้ำได้มากที่สุด มีการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบ ไม่ทำให้ผู้ที่อยู่ปลายน้ำได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภค อุปโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม และด้านอื่นๆ

นอกจากนี้ได้พากลุ่มเด็กนักเรียนลงพื้นที่ไปดูฝายกั้นน้ำ ประตูเปิดปิดทางระบายน้ำ และวิธีการส่งน้ำตามคลองเพื่อเข้าสู่พื้นที่การเกษตร จากนั้นได้ให้เด็กกลับมาที่โรงเรียนเพื่อสรุปองค์ความรู้ที่ได้ทั้งหมดว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง การบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างไร ก่อนจะออกมาบรรยายองค์ความรู้ให้กับเพื่อนๆ ได้ทราบ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่าแต่ละกลุ่มมีความเห็นอย่างไร เหมือนกันหรือไม่ และมีอะไรแตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้กลุ่มเด็กได้องค์ความรู้ที่มากขึ้น จากนั้นก็ได้มีการมอบใบประกาศนียบัตรให้กับเด็กนักเรียนที่เข้าร่วมการอบรม