สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ว่า กฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา กำหนดให้มีการเก็บภาษี 3% กับบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทข้ามชาติ เช่น อัลฟาเบต อิงค์, แอมะซอน และเมตา ที่ให้บริการดิจิทัลแก่ชาวแคนาดา ซึ่งคาดว่าจะทำให้รัฐบาลออตตาวา มีรายรับประมาณ 5,900 ล้านดอลลาร์แคนาดา (ราว 158,600 ล้านบาท) ในระยะเวลา 5 ปี

ฟรีแลนด์ กล่าวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การบังคับใช้กฎหมายข้างต้นว่า แคนาดากำลังดำเนินการตามสมาชิกกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำขนาดใหญ่ของโลก 7 แห่ง หรือ “จี7” ประเทศอื่น ๆ เช่น สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และอิตาลี

อนึ่ง รัฐบาลออตตาวา เคยเสนอกฎหมายภาษีบริการดิจิทัลในปี 2562 และชะลอการบังคับใช้ เพื่อทำให้การเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญาระดับโลก ในการจัดเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ สามารถหาข้อสรุปได้

“การเจรจาเหล่านี้ยืดเยื้อโดยไม่มีข้อตกลง ซึ่งมันไม่สมเหตุสมผลและไม่ยุติธรรมเลย ที่แคนาดาต้องเลื่อนการใช้มาตรการของเราเองออกไปอย่างไม่มีกำหนด” ฟรีแลนด์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แคนาดาเห็นชอบกับการแก้ปัญหาภาษีบริการดิจิทัลระดับพหุภาคีมาโดยตลอด อีกทั้งการเจรจาระดับทวิภาคีกับรัฐบาลวอชิงตัน ก็ยังคงดำเนินต่อไป

อย่างไรก็ตาม สมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และการสื่อสารของสหรัฐ (ซีซีไอเอ) ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เช่น แอมะซอน, แอปเปิล และอูเบอร์ ตลอดจนสมาคมการค้าอีก 10 แห่ง เรียกร้องเมื่อเดือนที่แล้ว ให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ คัดค้านภาษีที่ “สร้างภาระและเลือกปฏิบัติ” ภายใต้ข้อตกลงสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา (ยูเอสเอ็มซีเอ)

นอกจากนี้ กลุ่มสมาคมยังเตือนว่า กฎหมายภาษีดิจิทัลของรัฐบาลออตตาวา จะมีผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทสหรัฐ และจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการลงทุนของสหรัฐในแคนาดาด้วย.

เครดิตภาพ : AFP