เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง กรณีคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ในวันพระใหญ่ ในอาคารอากาศยานนานาชาติ ว่า หลังมีมติดังกล่าวออกมาแล้ว ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะฝ่ายเลขาคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ต้องมาร่างปรับปรุงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 คือ วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ให้สามารถจำหน่ายได้ ในอาคารอากาศยานนานาชาติ เพื่อส่งให้ประธานคณะกรรมการเป็นผู้ลงนาม ซึ่งไม่ได้มีกรอบระยะเวลาว่าจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเมื่อไหร่

นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า ในรายละเอียดของมติดังกล่าวจะเป็นการอนุมัติทั้งการขาย การดื่มภายในอาคารสนามบินนานาชาติ ซึ่งจะเป็นการต่อเครื่องไปยังประเทศอื่นๆ ต่อไป ไม่ใช่ว่าดื่มแล้วก็ออกมายังนอกอาคาร แล้วไปตามชุมชนต่างๆ ของประเทศไทย ก็เหมือนกับปัจจุบัน เวลาขึ้นเครื่องบินก็สามารถดื่มได้อยู่แล้ว ดังนั้น การอนุมัติดังกล่าวจะไม่เป็นการเพิ่มจำนวนคนเมาบนท้องถนนแต่อย่างใด

ส่วนกรณีการรถไฟไทยขอขายเหล้าที่สถานี และดื่มบนขบวนรถไฟได้ด้วยนั้น ที่ประชุมไม่ได้พูดถึงตรงนี้ว่าจะมีการผลักดัน เพราะด้วยเหตุผลที่อนุญาตให้ขาย ดื่มในอาคารสนามบินนานาชาติได้ก็เพราะมองว่า เขาดื่มแล้วเดินทางออกนอกประเทศ แต่เรื่องของรถไฟนั้น เป็นการเดินทางในประเทศ ขนาดสนามบินในประเทศเราก็ยังไม่ให้  

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีผู้กังวลว่า การปลดล็อกขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์วันพระใหญ่ในสนามบินนานาชาติ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปลดล็อกขายในวันพระใหญ่เป็นการทั่วไปทั้งประเทศหรือไม่ นพ.สุรโชค กล่าวว่า อย่าไปคิดอย่างนั้น เพราะไม่ได้หมายความว่าทำเรื่องหนึ่งแล้วจะขยายไปเป็นอีกเรื่องหนึ่งหรอก บางครั้งเหตุผลเป็นคนละเหตุผล อย่างที่บอกว่า เหตุผลที่อนุญาตซื้อขาย ในวันพระใหญ่ในอาคารสนามบินนานาชาตินั้นก็เพราะว่า เขาจะเดินทางออกนอกประเทศอยู่แล้ว

ด้าน นพ.อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายฯ มีความกังวลใจในข้อเสนอของการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากผลกระทบโดยเฉพาะประเด็นความปลอดภัย เช่น การเกิดอาชญากรรมในขบวนรถไฟจากการดื่มสุรายังเป็นเคสที่เราห่วง และยังไม่อยากให้เกิดขึ้น จึงให้การรถไฟฯ ไปทำมาตรการป้องกันผลกระทบและความปลอดภัยของผู้โดยสาร แล้วส่งมาตรการดังกล่าวมาให้กรรมการนโยบายฯ พิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ไม่ได้กำหนดกรอบว่าให้แล้วเสร็จเมื่อไหร่ ส่วน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระบุไว้ชัดเจนว่า สถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องมีที่อยู่ชัดเจน หากขายบนรถไฟซึ่งเคลื่อนที่ไปยังสถานที่ต่างๆ จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายยาก อย่างไรก็ตาม หากอนุญาตก็ต้องแก้ไขกฎหมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กรรมการฯ ยังมีความห่วงใยว่า หากให้การรรถไฟไทยทำได้ ก็อาจจะมีขนส่งสาธารณะอื่นๆ มาขอด้วย จำให้เกิดความยากลำบากในการควบคุมในอนาคต.