เมื่อวันที่ 3 ก.ค. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชิญชวนร่วมกันแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ซึ่งมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ ได้ที่เว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.-12 ก.ค. 2567 https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=37163 และเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ปราจีนบุรีและ สระแก้ว ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ ที่อุทยานฯ ทับลาน จ.ปราจีนบุรี และ วันที่ 5 ก.ค. ที่ศาลากลาง จ.นครราชสีมา

โดยระบุถึงข้อพิจารณาที่ควรใช้ประกอบการรับฟังความคิดเห็น ดังนี้  1. ท่านเห็นชอบในการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) เพื่อกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน หรือไม่ อย่างไร 2. เมื่อปรับเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะสามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ อย่างไร 3. มั่นใจหรือไม่ว่า ราษฎรที่ได้รับประโยชน์ในพื้นที่เป็นเกษตรกรผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยที่ทำกิน และได้อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่มาดั้งเดิม และจะสามารถควบคุมดูแลไม่ให้มีกระบวนการปรับเปลี่ยนการครอบครองไปอยู่ในมือของนายทุนหรือผู้มีฐานะดี

4. การใช้แนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ป้องกันการบุกรุกป่าอนุรักษ์เพิ่ม มาใช้เป็นแนวเขตของอุทยานแห่งชาติทับลาน ขัดต่อวัตถุประสงค์เริ่มแรกของการสำรวจจัดทำแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 หรือไม่ 5. จะเป็นแนวทางที่ใช้ขยายลุกลามให้เกิดการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งอื่น ๆ อีกหรือไม่ อย่างไร ในเมื่อพื้นที่อื่นๆ ก็มีราษฎรที่อ้างว่าขาดแคลนที่ดินทำกิน และมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือ เพราะเป็นประชาชนคนไทยเช่นกัน 6. เป็นการขัดต่อนโยบายการป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งป่าเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศหรือไม่ อย่างไร 7. เป็นการส่งผลต่อสถานภาพการเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จากการถูกลดคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก (UNESCO) หรือไม่

ทั้งนี้ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (สบอ. 1) ปราจีนบุรี ได้ออกประกาศเรื่องการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในการกำหนดอุทยานฯ ทับลาน จ.ปราจีนบุรี นครราชสีมา และสระแก้ว โดยระบุข้อมูลประกอบการรับฟังความเห็นตอนหนึ่งว่า หากปรับปรุงแนวเขตทับลานตามแนวเขตใหม่ จะทำให้อุทยานฯ ทับลาน มีเนื้อที่ลดลงอย่างน้อย 265,000 ไร่ แม้จะมีการเสนอผนวกพื้นที่ทางตอนเหนือในท้องที่ ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เพิ่มเข้ามาอีก 8 หมื่นไร่ ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะผนวกเพิ่มได้หรือไม่ เนื่องจากพบว่ามีราษฎรถือครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังอยู่ในขั้นตอนของการหาข้อยุติกับกรมป่าไม้ เนื่องจากมีแผนงานปลูกป่าต่อเนื่อง และมีการจัดตั้งป่าชุมชนเป็นส่วนใหญ่แล้ว  ทั้งนี้ในการเพิกถอนอุทยานฯ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน จะต้องมีการรับฟังความเห็นจากประชาชน ตามมาตรา 8 วรรคสาม พ.ร.บ.อุทยานฯ เพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งการเพิกถอนเปลี่ยนแปลงแนวเขตให้กับนายทุน ผู้มีสถานะที่ไม่ใช่ผู้ยากไร้ อาจส่งผลกระทบให้เกิดการต่อต้านจากประชาชนที่มีมองเห็นการกระทำดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติ เกิดความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และเกรงว่าการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อแก้ไขปัญหาจะไม่ใช่ข้อยุติของปัญหา กลับส่งผลให้มีการบุกรุกที่ดินของรัฐต่อไปในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

ด้านนายพสิษฐ์ เอี๋ยวพานิช นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติ  กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว  โดยสมาคมอุทยานฯ ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมอุทยานฯ เพื่อประกอบการพิจารณา  ดังนี้ 1.กรณีแนวเขตสำรวจ รังวัดของกรมป่าไม้ เมื่อปี 43 เป็นการสำรวจครอบครองที่ดินของราษฎร ตามที่ราษฎรเข้ามาถือครอง ทำกินในอุทยานฯ ทับลานในขณะนั้น ซึ่งราษฎรอ้างสิทธิ ครอบครองทำกินตามแนวเขตรังวัดปี 43 2.จากการที่กรมป่าไม้ ได้ดำเนินการรังวัดเพื่อตรวจสอบการยึดถือครอบครองที่ดินของประชาชน ในพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน เมื่อปี 43 หากกรมอุทยานฯ ยึดตามแนวรังวัดนี้ จะทำให้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อเตรียมผนวกเป็นพื้นที่อุทยานฯ ทับลานเพิ่มขึ้น 1.1 แสนไร่ บริเวณบ้านใหม่ อ.ครบุรี จ.นคราชสีมา จากการรับฟังข้อมูลของหัวหน้าอุทยานฯ ทับลาน ได้ให้ข้อมูลว่า เป็นการยากที่จะดำเนินการได้ เนื่องจากกรมป่าไม้ ได้อนุญาตให้ส่วนราชการ หลายหน่วยงานเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ รวมทั้งยังมีประชาชนเข้าไปยึดถือครอบครองใช้ประโยชน์พื้นที่ป่านั้นแล้ว

นายพสิษฐ์ กล่าวต่อว่า 3.หากพิจารณาตามความในข้อ 2. ตามที่กรมอุทยานฯ ได้เคยแจ้งไว้กับคณะกรรมการมรดกโลก เมื่อปี 48 ว่าจะมีการผนวกพื้นที่อุทยานฯ ทับลานเพิ่ม 1.1แสนไร่ บริเวณบ้านใหม่ อ.ครบุรี หากคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (one map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ มีความประสงค์จะปรับปรุงแนวเขตอุทยานฯ ทับลาน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแล้ว จำเป็นจะต้องแจ้งให้ศูนย์มรดกโลกทราบ เพราะหากพิจารณาแล้วว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวเขตอย่างมีนัยสำคัญ กรมอุทยานฯ ต้องจัดส่งข้อเสนอดังกล่าว ประหนึ่งว่าเป็นการนำเสนอมรดกโลกใหม่ ผ่านขั้นตอนและเวลาที่กำหนดไว้ครบถ้วน ซึ่งบทบัญญัตินี้รวมทั้งการลดพื้นที่และการเพิ่มพื้นที่ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนสถานภาพทางกฎหมายในการคุ้มครองป้องกันพื้นที่แหล่งมรดกโลก อาจถือเป็นอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ และอาจทำให้เกิดผลกระทบทางลบต่อคุณค่าของแหล่งมรดกโลก ซึ่งอาจนำไปสู่การพิจารณาให้แหล่งมรดกโลกนั้นขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย

นายกสมาคมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า 4.ในกรณียึดแนวรังวัดปี 43 จะทำให้สูญเสียพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน 265,000 ไร่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายป่าไม้แห่งชาติ ปี 62 และแผนแม่บทพัฒนาป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดพื้นที่ป่าไม้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ (ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25 และป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15) 5.กรณีพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานฯ ทับลาน เห็นควรให้ยึดการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ แบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (one map) ปี 58 จากข้อเท็จจริง พบว่า เส้นแนวรังวัดปี 43 ไม่เป็นไปตามการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ  ปี 58 เนื่องจากทำให้พื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรล้ำเข้ามาในเขตอุทยานฯ ทับลาน ประมาณ  8,000 ไร่เศษ ซึ่งเป็นข้อมูลจากหัวหน้าอุทยานฯ ทับลาน

นายพสิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะของสมาคมอุทยานฯ กรณีพื้นที่ที่ราษฎรเข้ายึดถือครอบครองในอุทยานฯ ทับลาน เห็นควรดำเนินการตามหลักเกณฑ์แห่ง พ.ร.บ.อุทยานฯ ปี 62 มาตรา 64 ซึ่งเป็นแนวทางชัดเจนตามกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานฯ ทับลานในปัจจุบัน และเพื่อการวางแผนในอนาคตในการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ให้ใช้แนวทาง “โครงการคืนฟื้นฟูป่าประชาร่วมใจ” ของสมาคมอุทยานฯ เพื่อให้ได้พื้นที่กลับคืนมาเป็นป่าอนุรักษ์ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานฯ ซึ่งปัจจุบันนี้สมาคมอุทยานฯ ได้ดำเนินโครงการนำร่องในพื้นที่อุทยานฯ ศรีน่านและป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ อ.เวียงสา และนาน้อย จ.น่าน สำเร็จแล้วกว่า 400 ไร่ เป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป  ทั้งนี้ขอย้ำว่าไม่ควรให้พื้นที่ป่าไปอยู่ในความดูแลของ ส.ป.ก. เพราะกรมอุทยานฯ มีมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานฯ ในการดูแลประชาชนให้คนอยู่กับป่าได้อยู่แล้ว  ทุกพื้นที่ควรดำเนินการภายใต้กฎหมายทั้งหมด ควรรักษาพื้นที่ป่าไว้โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีการรณรงค์ในกลุ่มนักอนุรักษ์ผ่านโซเชียลในช่องทางต่างๆ ในการออกความเห็น ไม่สนับสนุน NO การเพิกถอนป่าอุทยานฯ ทับลาน โดยมีเหตุผลสำคัญคือ ไม่เห็นด้วยในการยกที่ดินป่าอนุรักษ์ไปให้ ส.ป.ก.ดูแล เพราะเป็นช่องทางที่นายทุนจะใช้เป็นกระบวนการในการครอบครองที่ดินของคนทั้งประเทศในอนาคต  ส.ป.ก.ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสังคมไทยที่จะดูแลประชาชน เพราะเกษตรกรที่แท้จริงส่วนใหญ่อยู่นอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ นอกจากนั้นแนวเขตใหม่อุทยานฯ ทับลาน จะถูกแยกพื้นที่ป่าเหมือนเป็นเกาะ ขัดต่อวัตถุประสงค์ในการเชื่อมพื้นที่ป่าของกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ซึ่งเป็นการลดคุณค่าอันเป็นสากล และหนีไม่พ้นการถูกปลดออกจากการเป็นพื้นที่มรดกโลก ซึ่งกรมอุทยานฯ มีแนวทางแก้ปัญหาที่ทำกินของราษฎรยากไร้ตามมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานฯ  เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อยู่แล้ว.