เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คปี 2534 มาตรา 4 วรรคสอง เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และยังมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มาตรา 4 วรรคสอง เฉพาะในส่วนโทษทางอาญาไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง

โดยมติ 6 ต่อ 3 เสียงข้างมากประกอบไปด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรัตน์, นายปัญญา ประชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน, นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อยประกอบไปด้วย นายนพดล เทพพิทักษ์, นายบรรจงศักดิ์ วงปราชญ์ และนายอุดม รัฐอมฤต

ในคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ส่งคำโต้แย้งและคำโต้แย้งเพิ่มเติมของนายวิชา เบ้าพิมพา และ น.ส.อนา วงศ์สิงห์ ในคดีหมายเลขแดงที่ อ 1571/2566 เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ตามคำร้องขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากกำหนดโทษอาญาแก่ผู้ออกเช็คในความผิดซึ่งไม่ใช่ความผิดร้ายแรง เป็นความผิดเล็กน้อยและยอมความได้

อีกทั้ง ยังมีลักษณะเป็นความผิดทางแพ่ง ซึ่งมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนว่าด้วยตั๋วเงินบังคับใช้อยู่แล้ว โดยเจ้าหนี้มักใช้โทษทางอาญาเป็นเครื่องมือบีบบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ข่มขู่ดำเนินคดีอาญากับผู้ออกเช็ค ทำให้ผู้ออกเช็คต้องตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ถูกควบคุมตัวหรือขัง ตลอดจนถูกลงโทษปรับหรือจำคุก กลายเป็นผู้มีประวัติอาชญากรติดตัวเพียงเพราะเหตุไม่สามารถชำระหนี้ได้เท่านั้น

ทั้งนี้ ยังไม่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และยังทำให้เกิดต้นทุนแก่ภาครัฐที่ต้อง ใช้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ทั้งแพ่งให้แก่เอกชนเพียงบางราย

อีกทั้ง ยังจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลระหว่างผู้ใช้เช็คกับผู้ใช้ตั๋วเงินประเภทอื่นอย่างไม่เท่าเทียม ทำให้เกิดปัญหาลงโทษผู้กระทำที่ไม่มีเจตนาทุจริต บทบัญญัติดังกล่าว ขัดต่อหลักนิติธรรมเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ขัดต่อหลักความเสมอภาคและขัดต่อหลักการลงโทษทางอาญา.