นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) จ.นครราชสีมา รับทราบแนวทางการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยให้หยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าของผู้ประกอบการ ซึ่งได้สอบถามทางผู้ประกอบการแล้วมีความยินดีในการหยุดดำเนินการ ซึ่ง ครม.มอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามความเหมาะสม ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าจะเริ่มเมื่อไร

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านดิวตี้ฟรี ขาเข้า 3 ราย ในท่าอากาศยานนานาชาติ 8 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ท่าอากาศยานสมุย ท่าอากาศยานกระบี่ จากสถิติของกรมศุลกากรในปี 66 มียอดจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในร้านดิวตี้ฟรีขาเข้ารวมทั้งสิ้น 3,021.75 ล้านบาท

ขณะที่ปัจจุบันผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรผ่านท่าอากาศยานนานาชาติ โดยทั่วไปสามารถซื้อสินค้าโดยได้รับสิทธิยกเว้นอากร ตามหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ ของที่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซื้อเพื่อใช้เองเป็นการส่วนตัวหรือใช้ในวิชาชีพ ราคารวมกันไม่เกิน 2 หมื่นบาท, บุหรี่ปริมาณไม่เกิน 200 มวนหรือซิการ์ หรือยาเส้น ปริมาณไม่เกินอย่าง 250 กรัม หรือหลายชนิดรวมกันปริมาณไม่เกิน 250 กรัม แต่บุหรี่ต้องมีปริมาณไม่เกิน 200 มวน และสุราปริมาณไม่เกิน 1 ลิตร

สำหรับประโยชน์และผลกระทบของการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านดิวตี้ฟรีขาเข้า ตามที่กระทรวงการคลังได้ศึกษา ได้แก่ 

1.นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น และมีการกระจายการใช้จ่ายและการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศอย่างกว้างขวาง โดยหากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลอดอากรขาเข้า 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปเพิ่มขึ้นประมาณ 570 บาท

2.ผู้เดินทางชาวไทยอาจจะเลือกใช้จ่ายซื้อสินค้าปลอดอากรจากประเทศต้นทางเพื่อทดแทนหรือใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทเดียวกันในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยขึ้นกับปัจจัยในการตัดสินใจที่แตกต่างกัน 

3.ผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านดิวตี้ ฟรี จะสูญเสียรายได้อากรขาเข้าส่วนของการจำหน่ายสินค้าในร้าน อย่างไรก็ดี หากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่าย  1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนร้านค้าทั่วไปเสมือนได้รับเม็ดเงินหมุนเวียนใหม่เพิ่มเติมสูงสุด 3,460 ล้านบาทต่อปี เป็นการสร้างโอกาสและส่งผลเชิงบวกต่อการผลิต การลงทุน และการจ้างงานได้ต่อไป

4.ผลต่อรายได้ของภาครัฐ จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนมีการกระจายสู่ผู้ประกอบการร้านค้าในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้เกิดการขยายฐานการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม

5.ผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม กรณีที่มีการหยุดดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านดิวตี้ฟรี ขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.012% ต่อปี