“มะเร็ง” กลายเป็นปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก ข้อมูลจากองค์การวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) คาดการณ์ว่า ในปี 2593 จะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั่วโลกกว่า 35 ล้านคน โดย 5 อันดับโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในโลก ได้แก่ 1.มะเร็งเต้านม 2.มะเร็งปอด 3.มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 4.มะเร็งต่อมลูกหมาก 5.มะเร็งปากมดลูก

สำหรับประเทศไทย มะเร็งยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าคนไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ ประมาณ 140,000 คนต่อปี หรือคิดเป็น 400 คนต่อวัน เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ประมาณ 83,000 คนต่อปี โดย 5 อันดับโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในคนไทย ได้แก่ 1.มะเร็งตับและท่อน้ำดี 2.มะเร็งปอด 3.มะเร็งเต้านม 4.มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง 5.มะเร็งปากมดลูก

ปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้า มีการพัฒนายาและวิธีการรักษาใหม่ ๆ อยู่เสมอซึ่งถือเป็นข่าวดีและความหวังของผู้ป่วยที่จะมีอายุที่ยืนยาวขึ้น

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงาน เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ว่าได้มีการเปิดเผยข้อมูลงานวิจัยจากการทดลองทางคลินิกล่าสุด ซึ่งระบุว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดระยะลุกลามที่ได้รับยา lorlatinib ของไฟเซอร์ยังคงมีชีวิตอยู่หลังผ่านไปแล้ว 5 ปี โดยไม่มีอาการลุกลาม

ทั้งนี้ lorlatinib เป็นยาซึ่งมีคุณสมบัติพื้นฐานแบบเดียวกับยา Crizotinib ที่ไฟเซอร์พัฒนาเช่นกันและมีใช้อยู่ในขณะนี้เพื่อรักษาโรคมะเร็งกลายพันธุ์จากยีนที่เรียกว่า อะนาพลาสติกลิมโฟมาไคเนส หรือ เอแอลเค (Anaplastic Lymphoma Kinase – ALK)

ข้อมูลจากการศึกษาชื่อคราวน์ (CROWN Study) ซึ่งติดตามการทดลองทางคลินิกระยะที่สามและเผยแพร่ต่อที่ประชุมของสมาคมโรคมะเร็งทางคลินิกแห่งอเมริกา ในเมืองชิคาโก ระบุว่า 60% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดระยะลุกลามที่มียีนเอแอลเค (ALK) เป็นบวก และได้รับการรักษาด้วยยา lorlatinib ไม่มีอาการของโรคที่รุนแรงขึ้นหรือมีการลุกลาม หลังระยะเวลาผ่านไปแล้ว 5 ปี ส่วนผู้ป่วยลักษณะเดียวกันและรับการรักษาด้วยยา Crizotinib มีอัตราการรอดชีวิตในช่วงเวลาเดียวกัน เพียง 8% เท่านั้น

ขณะเดียวกัน ผลการทดลองทางคลินิกบ่งชี้ด้วยว่า 53% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดระยะลุกลามและมีการแพร่กระจายไปยังสมอง ยังคงมีชีวิตโดยที่ไม่มีการลุกลามหลังระยะเวลาผ่านไปแล้ว 5 ปีเมื่อได้รับยา lorlatinib “เราเชื่อว่านี่เป็นนวัตกรรมสำคัญสำหรับไฟเซอร์” คริส บอชอฟฟ์ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านมะเร็งกล่าวในการสัมภาษณ์

นายคริส บอชอฟฟ์ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านโรคมะเร็งของไฟเซอร์ กล่าวว่า ผลการศึกษาที่ออกมา “ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ” ของบริษัทฯ และวางแผนให้ประเทศจีนเป็นตลาดสำคัญของยา lorlatinib เนื่องจากมีผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะลุกลามที่มียีนเอแอลเค (ALK) เป็นบวก เป็นสัดส่วนมากถึง 7%

ทั้งนี้ lorlatinib เป็นยาซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในสหรัฐ เมื่อเดือนมี.ค. 2564 มียอดจำหน่าย 164 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6,011 ล้านบาท) เมื่อไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

เมื่อผ่านพ้นการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้ยอดขายวัคซีนและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องลดลงเช่นเดียว กับความสนใจของนักลงทุนซึ่งเบาบางลงตามไปด้วย ไฟเซอร์ยังคงต้องการพัฒนาเพื่อการรักษาโรคมะเร็งโดยได้ซื้อกิจการของบริษัท “ซีเจน” (Seagen) หนึ่งในผู้ผลิตยารักษาโรคมะเร็งรายใหญ่ ในราคา 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.57 ล้านล้านบาท) และมีการปรับโครงสร้างภายในบริษัทให้เน้นไปที่เรื่องนี้มากขึ้นด้วย

อนึ่ง ไฟเซอร์เคยกล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ ที่ผ่านมาว่ามีแผนพัฒนายารักษาโรคมะเร็งให้ได้อย่างน้อย 8 ตัว ภายในปี พ.ศ. 2573 จากปัจจุบันซึ่งมีอยู่ 5 ตัว

แหล่งที่มา: https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/pfizer-sees-lung-cancer-drug-topping-1-billion-sales-following-impressive-5-year-2024-05-31/

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ: https://www.nci.go.th/
องค์การวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC): https://tumourclassification.iarc.who.int/
กรมการแพทย์: https://www.moph.go.th/