นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในการจัดโครงการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “Digital Korat: The Future Starts now-โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” ณ ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมา ว่า ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน เรามีความต้องการยกระดับประเทศ ไปสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ภายใต้วิสัยทัศน์ Thailand Vision “IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” โดยหนึ่งในเป้าหมายคือ การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (ดิจิทัล อีโคโนมี่ ฮับ) ดังนั้นกระทรวงดีอี จึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายดังกล่าว

“รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ ให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ร่วมกับการบริหารงานส่วนท้องถิ่น ตอบสนองความต้องการของประชาชน ให้ได้รับบริการจากภาครัฐอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพประชาชน รวมถึงบุคลากรภาครัฐ สร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค การนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างมั่นคงปลอดภัย ต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้เพื่อเป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน”

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า โครงการ “Digital Korat: The Future Starts now-โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” เป็นการขับเคลื่อนและยกระดับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถือเป็นจังหวัดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ เป็นประตูสู่ภาคอีสาน ที่มีศักยภาพความพร้อมในหลายด้าน สู่การเป็นเมืองดิจิทัลในระดับภูมิภาค ภายใต้ภารกิจของกระทรวงดีอี ใน 4 มิติ ประกอบด้วย 1. ดิจิทัลเพื่อความเท่าเทียม (ด้านสังคม) 2. ดิจิทัลเพื่อความปลอดภัย (ด้านความมั่นคง) 3. ดิจิทัลเพื่อโอกาสที่ดีกว่า (ด้านเศรษฐกิจ) 4. ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ด้านการดำเนินงานภาครัฐ)

โดยมีการรลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงดีอี และภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

1.การขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นจังหวัดต้นแบบในการใช้ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ลดการใช้กระดาษ (Paper Less) การส่งเสริมการใช้งานด้านดิจิทัลในระบบบริการสาธารณสุข และการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล

2.ความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อร่วมมือกันในการพัฒนากำลังคน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านดิจิทัลให้กับนักศึกษาและบุคลากรของสถาบันการศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา

3.ความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กับ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เพื่อพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistic Hub) และส่งเสริม Soft Power ของจังหวัดนครราชสีมา เพื่อการเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปะ และการสร้างสรรค์ผลงานผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล

นอกจากนี้กระทรวงดีอี ยังได้จัดกิจกรรมสัมมนาและอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดิจิทัลในด้านต่างๆ ได้แก่

-การจัดกิจกรรมอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมกว่า 2,000 คน

-กิจกรรมแนะนำอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) และแอปพลิเคชัน อสด. โดยผู้แทน สดช. เพื่อให้เกิดการพัฒนาและขยายเครือข่าย อสด.

-กิจกรรมแนะนำบริการและข้อมูลที่ถูกต้องจากภาครัฐ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวออนไลน์

-โครงการ GCC 1111 แจ้งเบาะแสข่าวปลอม เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย สื่อลามก อนาจาร เว็บไซต์พนัน รวมทั้งข้อมูลอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ ผ่านโทรสายด่วน 1111 

-ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ให้คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภัยออนไลน์ ประสานเรื่องการแจ้งความดำเนินคดี ระงับบัญชีธนาคาร

-กิจกรรมจัดแสดงนิทรรศการของกระทรวงดิจิทัลฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และภาคเอกชน ได้แก่

1) การนำเสนอภารกิจ/โครงการสำคัญของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอี

2) การนำเสนอหลักสูตรวิชาการด้านดิจิทัลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ที่ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน เช่น VR Training และ EV เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

3) การนำเสนอนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของภาคเอกชน ได้แก่ Smart City ของบริษัท Huawei และ AI Mapping Robot ของบริษัท Metthier รวมถึงเทคโนโลยีทางการสื่อสารจาก บริษัท AIS และ True                

“กระทรวงดีอี พร้อมขับเคลื่อนและยกระดับ จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้นแบบของมหานครดิจิทัลแห่งอนาคต ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ที่มีศักยภาพ และความพร้อม ด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลอย่างทั่วถึง สร้างสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างองค์ความรู้ พัฒนาทุนมนุษย์ให้กับประชาชน และบุคลากรหน่วยงานรัฐ ต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยทุกคนอย่างยั่งยืน”