กำลังเป็นกระแสฮือฮาสนั่นโซเชียลอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 67 มีสมาชิกกระทู้พันทิปรายหนึ่ง ตั้งกระทู้รีวิวการขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ อายุ 55 ปี โดยเจ้าของกระทู้ระบุข้อความว่า “และแล้ว ก็ครบ 55 ปี เกินไป 3-4 วัน ได้เวลาเอาคืนแล้วครับ กองทุนชราภาพ เริ่มเก็บสะสม ปี 2542 ผมทำงานและลาออกจากระบบ ปี 2550 แสดงว่า มีเงินส่งและสะสมอยู่ราว 8 ปี ปีนี้ 2567 อายุครบ 55 ตามหลักเกณฑ์ที่จะได้เงินคืน”

นอกจากนี้เจ้าของกระทู้ระบุข้อความเพิ่มอีกว่า “ก่อนหน้านี้ก็เข้าไปเช็กประวัติ เงื่อนไข และจำนวนเงิน+สะสม ในเว็บไซต์ของประกันสังคมมาตลอด เพื่อรอให้ครบรอบวันเกิดครบ 55 ปี เมื่อได้ฤกษ์พร้อมแล้ว ก็ไปสำนักงานประกันสังคม แถวบ้านทันที”

โดยเอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ มีดังนี้
1. บัตรประจำตัวประชาชน
2. สำเนาบัตรประชาชน
3. สำเนาหน้าบัญชี

ขั้นตอนในการยื่นขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ มีดังนี้
1. รับบัตรคิวจากเจ้าหน้าที่
2. เมื่อถึงคิวให้นำบัตรประจำตัวประชาชนให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล
3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ บัญชีที่ใช้สำหรับการรับเงิน
4. มีการยืนยันตัวตนผ่าน SMS โดยระบบจะส่งเลข OTP เพื่อใช้แจ้งเจ้าหน้าที่
5. จากนั้น เจ้าหน้าที่จะพิมพ์หนังสือหลักฐานมอบให้ โดยในหนังสือแจ้งว่า จะได้รับเงินคืนภายใน 5 วันทำการ

ยื่นเอกสารขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ จะได้เงินภายในกี่วัน?
หนังสือแจ้งว่า จะได้รับเงินภายใน 5 วันทำการ โดยเจ้าของกระทู้ทำเรื่องวันจันทร์ที่ 24 มิ.ย. 67 และได้รับเงินวันที่ 27 มิ.ย. 67

จำนวนเงินที่จะได้รับ
สำหรับจำนวนเงินที่จะได้รับขึ้นอยู่กับกรณี ซึ่งกรณีเจ้าของกระทู้มีการส่งประกันสังคม 8 ปี จึงอยู่ในเกณฑ์รับบำเหน็จ
สมมุติเช็กในเว็บไซต์ประกันสังคม พบว่ามีเงิน 100 บาท แต่หนังสือแจ้งบวกเงินสมทบจะได้รับเงินรวม 200 บาท

ข้อควรระวังในการยื่นขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ
1. หากอายุครบ 55 ปี ต้องทำเรื่องภายใน 1 ปี ไม่งั้นจะถูกตัดสิทธิ

วิธีตรวจสอบยอดเงินส่งประกันสังคม
1. สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม (sso.go.th)
2. เลือก “ผู้ประกันตน” แล้วกด Log in
3. เลือก “การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ มาตรา 33/39” ซึ่งจะพบยอดเงินทั้งหมดที่จะได้รับ

อย่างไรก็ตาม เจ้าของกระทู้ยังบอกอีกว่า “การทำเรื่องที่สำนักงานแต่ละที่ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นมาตรฐานเดียวกันหรือไม่”

ขอบคุณข้อมูล : กระทู้พันทิป และประกันสังคม