จากกรณี” เดลินิวส์” ได้เสนอข่าวปัญหาการถือครองที่ดินของรัฐ และการประกอบธุรกิจวิลล่าหรูให้เช่าของชาวต่างชาติบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มาอย่างต่อเนื่อง โดยภายหลัง กอ.รมน.ภาค 4 โดย พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 ได้สั่งการให้ พ.อ.ดุสิต เกสรแก้ว หัวหน้าชุดแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่กองทัพภาค ที่ 4 เข้าดำเนินการ ด้วยการบูรณาการหน่วยงานบังคับใช้กฏหมายที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการตรวจสอบ และพบว่าในหลายพื้นที่ มีการกระทำผิดในหลาย พรบ. คือ พรบ.สิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร,พ.ร.บ.โรงแรม และ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของชาวต่างด้าว โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ปัญหารุนแรง 6 จุด ประกอบด้วยจุดที่ 1 เขาเฉวงน้อย หรือเขาหมาแหงน ต.บ่อผุด จุดที่ 2 เขาละไม ต.มะเร็ต จุดที่ 3 เขาท้ายควาย ต.ลิปะน้อย จุดที่ 4 เขาแหลมใหญ่ ต.แม่น้ำ จุดที่ 5 เขาเตย ต.แม่น้ำ และจุดที่ 6 เขาพระ ต.บ่อผุด และล่าสุด คณะทำงานได้เข้าตรวจสอบและตรวจยึดวิลล่าหรูซึ่งสร้างอยู่ตามแนวสันเขาเฉวงน้อยในพื้นที่ หมู่ 4 ต. บ่อผุด จำนวน 52 หลัง พร้อมทั้งประสานให้เจ้าของ สิ่งปลูกสร้างเข้าพบเจ้าหน้าที่เพื่อชี้แจงและนำตรวจเอกสาร ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

เริ่มแล้ว! ‘สมุยโมเดล’ ลุยอายัด 52 วิลล่าหรู ‘เขาเฉวงน้อย’ นายทุนต่างชาติ

ความคืบหน้า วันที่ 28 มิ.ย. พ.อ.ดุสิต เกษรแก้ว หัวหน้าชุดตรวจสอบฯ เปิดเผยว่า หลังคณะทำงานเข้าตรวจสอบอาคารทั้ง 52 หลัง ในเบื้องต้นพบว่า 1)เป็นพื้นที่ห้ามก่อสร้าง และ พื้นที่ก่อสร้างได้แต่จำกัดความสูงของอาคาร (สีแดง,สีเหลือง) ต้องห้ามตาม พรบ.คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และประกาศกระทรวงทรัพยฯ 2)ไม่มีใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน 3) มีการนำอาคารที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต มาประกอบกิจการธุรกิจโรงแรม โดยไม่จดแจ้งต่อนายทะเบียน ตาม พรบ.โรงแรมฯ ซึ่งในการเข้าตรวจสอบผู้ดูแลสถานที่อ้างว่ามีอนุญาตก่อสร้างและนัดหมายกับเจ้าหน้าที่เพื่อส่งมอบเอกสาร แต่ปรากฏว่ายังไม่มาตามนัด ทำให้ในส่วนนี้คณะทำงานจะต้องสอบสวนปากคำเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ คือเทศบาลนครเกาะสมุยจึงจะสามารถดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้

วันเดียวกันที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ติดตามความคืบหน้า การทำงานแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดิน และการประกอบธุรกิจวิลล่าให้เช่าของชาวต่างชาติบนเกาะสมุย ของ กอ.รมน. ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำเดือน ซึ่ง พ.อ.ฐิติพงษ์ อินวะษา รอง ผอ.รมน.จ.สุราษฎร์ธานี ได้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินการของคณะทำงาน โดยระบุว่าการทำงานเข้าตรวจสอบล่าสุดพบความผิดกฎหมาย ของผู้ประกอบการ และอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อกล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนท้องที่ คาดว่าการดำเนินคดีจะเป็นรูปธรรมในเร็วๆนี้

นายเจษฎา กล่าวว่า ในฐานะ ผอ.รมน.จ.สุราษฎร์ธานี มองว่าการถือครองที่ดินและการเข้ามาประกอบธุรกิจวิลล่าให้เช่าของชาวต่างชาติบนเกาะสมุย เป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการแก้ไข แม้ว่าจะเป็นปัญหาที่สะสมมานานจนบานปลายมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างจำนวนมากตามแนวสันเขา นอกจากจะกระทบต่อภาพลักษณ์ที่สวยงามของเมืองท่องเที่ยวแล้ว ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติอีกด้วย อย่างกรณีล่าสุดที่คณะทำงานเข้าตรวจสอบวิลล่าหรูบนเขาเฉวงน้อย ในพื้นที่ ต.บ่อผุด จำนวน 52 หลัง พบความผิดชัดเจนในเรื่อง พรบ.โรงแรม ซึ่งผู้ประกอบการไม่ได้ยื่นขออนุญาตต่อฝ่ายปกครอง แต่มีพยานหลักฐานการเข้าพักของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยขณะนี้ให้เป็นหน้าที่ ของคณะทำงานชุดแก้ไขปัญหา ของกองทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค4 ในการเข้าตรวจสอบตรวจยึด และดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยจังหวัดจะเป็นผู้สนับสนุนและให้ความร่วมมือเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย

“เมื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายจนคดีถึงที่สุดแล้ว ตนในฐานะ ผอ.รมน. จังหวัด ได้มีแนวทางการออกคำสั่งทางปกครองในการรื้อถอนอาคารที่ผิดกฎหมาย และเพิกถอนการครอบครองที่ดิน เพื่อให้กลับมาเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษาข้อกฏหมาย ให้สามารถดำเนินการได้ทันที เมื่อคดีถึงที่สุดเพื่อให้เป็นคดีตัวอย่าง” ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี กล่าว

อย่างไรก็ตามทีมข่าวเฉพาะกิจ ได้รับรายงานว่า ในการเข้าตรวจสอบการถือครองที่ดิน บนเขาเฉวงน้อยพื้นที่ หมู่ที่ 4 ต.บ่อผุด ซึ่งเป็นเป้าหมายแรกในการเข้าตรวจสอบของคณะทำงาน และตรวจสอบการก่อสร้างอาคารวิลล่าหรูจำนวน 52 หลัง สร้างอยู่บนที่ดินเอกสารสิทธิ์หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ นส.3 ซึ่งผู้ครอบครองโครงการดังกล่าวเป็นนิติบุคคลของชาวไทย แต่ได้ตบตาเจ้าหน้าที่ ด้วยการนำที่ดินไปให้ชาวต่างชาติทำสัญญาแบ่งเช่าแบบมีกำหนด 30 ปี ไม่มีมีสิ่งปลูกสร้างในอัตราแปลงเนื้อที่ประมาณ 70 ตร.ว.ๆ ละ 1.5 ล้านบาท โดยมีสัญญาแนบท้ายเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง ในลักษณะของการเช่ารายเดือน ซึ่งในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าผู้ที่ทำสัญญาเช่าที่ดินและตัวอาคาร จะนำตัวอาคารไปให้บริการที่พักในลักษณะค้างคืน เข้าข่ายการประกอบการโรงแรมที่พัก และไม่ได้ขออนุญาต ตาม พรบ.โรงแรม กับฝ่ายปกครอง.