เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 67 มีการแชร์โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊ก Kratip Napakkamo (เภสัชกรรม) ได้โพสต์คลิป คุณแม่อุ้มลูกอายุ 1 ขวบ เข้าร้านเภสัช เพื่อขอความช่วยเหลือ หลังลูกมีอาการชักเกร็ง ตาค้าง และมีอาการอ่อนแรง

โดยเจ้าของโพสต์ระบุข้อความว่า 11 ปี หลังจากเหตุการณ์โจรปืนปลอมมาจี้ที่ร้านยา ก็ไม่เคยมีครั้งไหนใจเต้น และบีบหัวใจเท่าเหตุการณ์ในวันนี้ เรียกได้ว่าเป็น “วินาทีชีวิต”

เจ้าของโพสต์เล่าเพิ่มเติมว่า ในช่วงเวลา 18.00 น. มีลูกค้าประจำที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์พาลูกมาจอดหน้าร้าน ได้ยินเสียงรถเบรกเสียงดัง แล้วตะโกนว่าพี่ติ๊บช่วยน้องด้วย น้องมีอาการชัก นี่ก็ตกใจมาก แม่น้องแจ้งว่าน้องมีไข้แล้วน้องชัก เราก็ตั้งสติ จับน้องนอนลงในคอกเด็ก แล้วยายต้อยให้หาผ้าเช็ดตัวมาให้ด่วน ให้พ่อเด็กรีบโทร 1669 ทันที เพราะน้องมาด้วยอาการตาค้างเบิกโพลงไม่กะพริบ ตัวอ่อนแรง ปัสสาวะและอุจจาระแตก ไม่ได้สติ จึงเริ่มจากการเช็ดตัว แต่พอจับตัวน้อง น้องไม่ได้ตัวร้อน จึงปั๊มหัวใจ แต่ประเมินอาการแล้วน่าจะไม่ใช่

ต่อมา เจ้าของโพสต์จึงสอบถามคุณแม่น้องว่า ก่อนหน้านี้ให้น้องกินอะไรมาบ้าง เพราะในใจสงสัยเรื่องอาหารติดคอ พอแม่บอกว่าองุ่นชิ้นเล็ก แม้จะชิ้นเล็ก แต่เด็กวัยนี้มีพฤติกรรมอม แล้วอาจจะสำลักเข้าหลอดลมได้ง่าย ก็ไม่รอช้า ลงมือจับน้องกระทุ้งทันที โอ้แม่เจ้า น้องตอบสนอง ตาเริ่มกะพริบช้า เริ่มได้ยินเสียงเบาๆ หลังจากนั้นก็ทำครั้งที่ 2 เสียงเริ่มดังขึ้น ครั้งที่ 3 น้องร้องเสียงดังกว่าเดิมและตั้งคอได้ น้ำตาไหลในใจนี่โล่งเลย “น้องรอดแล้วลูก” ประจวบเหมาะกับรถโรงพยาบาลมาถึงหน้าร้านพอดี

นอกจากนี้ เปิดร้านยามา 12 ปี เจอผู้ป่วยวิกฤติมาเยอะ แต่ไม่เคยมีครั้งไหนบีบหัวใจเท่าครั้งนี้ เพราะเราก็มนุษย์แม่เช่นกัน ตอนนี้น้องปลอดภัยและยังคงเฝ้าดูอาการน้องต่อที่ รพ.สตูล ไม่เจอกับตัวเอง นี่ไม่รู้เลยว่าคำว่านาทีชีวิตมันเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม เจ้าของโพสต์ยังขอบคุณตัวเองที่มีสติพอ และขอบคุณคลิปต่างๆ ของพี่หน่วยปฐมพยาบาลที่เคยผ่านตา ทำให้ได้ความรู้ว่า ต้องช่วยเด็กอย่างไร?

สำหรับเหตุการณ์สาวเภสัชกรช่วยเด็กกินองุ่นแล้วติดหลอดลม วันนี้เดลินิวส์ออนไลน์ได้นำข้อมูลสังเกตผู้มีอาการ “อาหารติดคอ” พร้อมวิธีปฐมพยาบาล ดังนี้
วิธีสังเกตผู้มีอาการ “อาหารติดคอ” แยกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. อาหารติดคอ ชนิดไม่รุนแรง
– หายใจได้อยู่
– ไอเป็นพักๆ
– พูด หรือออกเสียงได้อยู่

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
– ถ้ายังหายใจเองได้อยู่ ให้ผู้ที่มีของติดคอ พยายามไอออกด้วยตัวเอง และเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
– โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือที่ สายด่วน 1669 หรือนำผู้ประสบเหตุส่งโรงพยาบาล

2. อาหารติดคอ ชนิดรุนแรง
– สำลัก ไออย่างรุนแรง หรือไอไม่ได้
– หายใจไม่ได้ หายใจลำบาก
– พูดลำบาก หรือพูดไม่ได้
– หน้าเริ่มซีด เขียว
– เริ่มใช้มือกุมที่คอตัวเอง (เป็นลักษณะที่แสดงออกเหมือนกับของผู้มีอาหารติดคอ)
ถามผู้ประสบเหตุว่า ของติดคอใช่หรือไม่? หากผู้ประสบเหตุพยักหน้า เนื่องจากพูดไม่ได้ พูดไม่ออก นั่นแสดงว่ามีอาหารติดคอชนิดรุนแรง จึงเริ่มให้การช่วยเหลือ

วิธีปฐมพยาบาลอาการสำลักในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี (อาการรุนแรง)
1. หาที่นั่งหรือนั่งคุกเข่า จับเด็กวางนอนคว่ำไว้บนขา จับให้มั่นระวังเด็กหล่น จัดศีรษะต่ำกว่าลำตัว มือจับที่บริเวณขากรรไกรของเด็ก และประคองคอเด็กไปด้วย ระมัดระวังจะต้องไม่เป็นการบีบคอเด็ก
2. ใช้มือข้างที่ถนัด ตบหลังเด็กด้วยสันมือ บริเวณกึ่งกลางสะบักอย่างแรง 5 ครั้ง
3. กลับตัวเด็กให้นอนหงาย โดยจับให้มั่นคงบริเวณท้ายทอยประคองเด็กให้ดี
4. ทำ CPR โดยใช้นิ้ว 2 นิ้ว ของมืออีกข้าง กดลงบนกึ่งกลางหน้าอกเด็ก โดยต่ำกว่าระดับหัวนมเด็กเล็กน้อย กดอย่างแรง 5 ครั้ง โดยทำสลับไปมาระหว่างการตบหลัง 5 ครั้งและการกดกระแทกหน้าอก 5 ครั้ง จนเด็กร้องออกมาได้เอง หรือมีสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา ห้ามใช้นิ้วล้วงในปาก หรือคอ ถ้ายังมองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอม หากเด็กหมดสติให้เริ่มทำ CPR

วิธีปฐมพยาบาลอาการสำลัก กรณีอายุมากกว่า 1 ปี (อาการรุนแรง)
1. เช็กอาการผู้ประสบเหตุอันดับแรก ถ้ายังไม่หมดสติ ให้ถามก่อนว่าอาหารติดคอไหม? หากทำได้เพียงพยักหน้า เนื่องจากพูดไม่ได้ พูดไม่ออก แสดงว่ามีอาการของติดคอชนิดรุนแรง จึงเริ่มให้การช่วยเหลือ
2. ยืนช้อนหลังผู้ประสบเหตุ เริ่มจากเข้าไปด้านหลัง กรณีที่เป็นเด็ก แนะนำให้คุกเข่าในการช่วยเหลือ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ควรเป็นท่ายืนตามปกติ
3. โอบรอบใต้รักแร้ของผู้ประสบเหตุ โดยกำมือข้างหนึ่งเป็นกำปั้นเหนือสะดือใต้ลิ้นปี่ แล้วใช้มืออีกข้างโอบกำปั้นไว้
4. รัดแล้วกระตุกหน้าท้องขึ้น แล้วเข้าพร้อมกันแรงๆ บริเวณใต้ลิ้นปี่ รอบละ 5 ครั้ง จนกว่าสิ่งแปลกปลอมออกมา ถ้าสิ่งแปลกปลอมออกมาแล้ว หรือผู้ประสบเหตุสามารถออกเสียงได้ แสดงว่าช่วยเหลือสำเร็จ และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ถ้ายังไม่เห็นสิ่งแปลกปลอมออกมา ห้ามใช้มือล้วงในปากเด็ดขาด
5. หากผู้ประสบเหตุเริ่มจะหมดสติ อาการไม่ดีขึ้น ต้องรีบโทรฯเรียกรถพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือโทรฯสายด่วน 1669 ก่อนเริ่มทำ CPR

ขอบคุณข้อมูล : Kratip Napakkamo และ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์