จากกรณีที่นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต อ.ปากพนัง ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้จังหวัดนครศรีธรรมราช เร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร ก่อนหน้านี้มีรายงานพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำสร้างปัญหาใน 13 จังหวัดของไทย ประกอบด้วย กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ระยอง ราชบุรี จันทบุรี เพชรบุรี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ ชุมพร สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี สงขลา และล่าสุดแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นเป็นจังหวัดที่ 14 คือจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะ 2 อำเภอ คือ อ.ปากพนัง และ อ.หัวไทร จนล่าสุดประมงจังหวัดเตรียมประกาศพื้นที่แพร่ระบาด และดีเดย์กำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่บ่อบำบัดน้ำเสีย 40 ไร่เป็นปฐมฤกษ์ในวันที่ 14 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากายกอบศักดิ์ เกตุเหมือนประมงจังหวัดนครศรีธรรมราชนางสาวชอุ่ม สุขช่วย หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช และนายบุญเยียน รัตนวิชา ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนังจำกัด นายวรรณไชย แพรกปาน กำนัน ต.ขนาบนาก นายณัฐพงศ์ นาคดำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 นายอรรถพล ปฐมสุวรรณกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.ขนาบนาก เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ในบ่อบำบัดน้ำเสียศูนย์พัฒนาประมงพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมากจากพระราชดำริ เนื้อที่รวม 120 ไร่ โดยมี พบว่ามีปลาหมอคางดำแพร่ระบาดอาศัยอยู่จำนวนมาก ในเบื้องต้นจึงกำหนดกิจกรรมการไล่ล่ากำจัดปลาหมอคางดำเป็นปฐมฤกษ์โดยกันพื้นที่จาก 120 ไร่ออกมา 40 ไร่ ในวันที่ 14 ก.ค. นี้ โดยสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนังจำกัด สนับสนุนงบประมาณดำเนินการ 23,000 บาท ท่ามกลางความดีใจของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต อ.ปากพนัง กล่าวว่า การที่ตนออกมาเรียกร้องให้จังหวัดเร่งประกาศเขตภัยพิบัติปลาหมอคางดำ แต่มีแนวโน้มว่าจังหวัดจะมีการประกาศเขตแพร่ระบาดเท่านั้น ซึ่งไม่เกิดผลในทางปฏิบัติมากนัก เพราะหลักใหญ่ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือเรื่องงบประมาณในการดำเนินการไล่ล่ากำจัด “เอเลี่ยนสปีชีส์”จากต่างแดนให้หมดไปจากพื้นที่โดยเร่งด่วนที่สุด และทราบดีว่ากรมประมงไม่มีงบประมาณดำเนินการเพียงพอ ต้องรองบประมาณจากรัฐบาล ในขณะที่สถานการณ์น่าเป็นห่วงเพราะในแหล่งนำธรรมชาติ และบ่อเลี้ยงปลา เลียงกุ้งของเกษตรกรในพื้นที่โดนปลาหมดคางดำรุกเกือบ 100 เปอร์เซนต์ เปิดบ่อหวังจับปลา กุ้ง ที่เลี้ยงกันพบแต่ปลาหมอคางดำเต็มบ่อ ขาดทุนย่อยยับป่นปี้ เพราะในบ่อลูกกุ้ง ปลา ถูกปลาหมอคางดำกินเกลี้ยง

หากล่าช้าสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ น้ำท่วม น้ำหลากเต็มพื้นที่ปลาหมดคางดำก็จะแพร่กระจายไปกวางขวางมากยิ่งขึ้น จะยิ่งยากแก่การวางแผนกำจัด อาจจะต้องใช้งบประมาณมากกว่าเดิมหลายสิบเท่า เรื่องนี้ทางประมงจังหวัด และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องแทบไม่ต้องคิดอะไรมากเลย แค่ประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน เพื่อให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 2 อำเภอ ปากพนัง หัวไทร เขาสามารถใช้เป็นกรอบในการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณกำจัดปลาหมอคางดำได้ ซึ่งมีแต่ผลดีไม่มีความเสียหายอะไรเลย หากรองบประมาณจากรัฐบาลกลาง “กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้”ไปหมดแล้ว

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ตอนนี้ตนได้รับการนร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาใน อ.ปากพนัง และ อ.หัวไทร หลายรายว่าเมื่อถึงวันจับกุ้ง จับปลา ที่เลี้ยงไว้ พบว่าในบ่อเต็มไปด้วยปลาหมอคางดำ แทบไม่มีกุ้ง ปลาเหลืออยู่เลย หรือเหลือน้อยมาก ๆ อาหารที่ใช้เลี้ยงปลา ระยะเวลา 3-4 เดือน แต่ถูกปลาหมอคางดำกินจนหมด มันเป็นมหัตภัยร้ายแรงกับเกษตรกร โดยในวันที่ 1 ก.ค.67 ทางสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนังจำกัด จะเชิญสมาชิกมาร่วมประชุมเพื่อกำหนดมาตรการ วิธีการ ขั้นตอนที่จะร่วมกันกำจัดปลาหมอคางดำในวันดีเดย์ 14 ก.ค.นี้ และหลังจากวันดีเดย์กำจัด“เอเลี่ยนสปีชีส์”จากต่างแดนในพื้นที่ 40 ไร่แล้วต่อไปจะทำอย่างไร จะหางบประมาณจากที่ไหนมาจัดกิจกรรมในครั้งต่อ ๆ

“…ตนขอกราบวิงวอนประมงจังหวัด เสนอเอกสารให้ทางผู้ว่าเซนอนุมัติประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน “ปลาหมอคางดำ” โดยเร็ว เพราะมันเกิดขึ้นทุกวัน ทุกกเวลา การเร่งกำจัดเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ชาวประมงปากพนังรอดตาย อย่ารอให้เข้าไอซียูจึงจะเริ่มรักษา ถึงช่วงนั้นอาจจะหมดหนทางรักษา เยียวไปแล้ว อย่าปล่อยให้ชาวประมงตายอย่างเขียดเลยครับ…” นายไพโรจน์ กล่าว