เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวข้อมูลในรายงานของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาที่อ้างว่ามีสถาบันการเงินใน 7 ประเทศซึ่งรวมถึงประเทศไทย เกี่ยวโยงกับการนำเข้าอาวุธของรัฐบาลเมียนมา ว่า  กระทรวงการต่างประเทศได้รับทราบเนื้อหาของรายงานดังกล่าวแล้วซึ่งระบุชื่อของหลายประเทศที่เป็นประเทศในภูมิภาคที่มีธุรกรรมทางการเงินเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้ สถาบันทางการเงินของไทยมีแนวทางการดำเนินการเช่นเดียวกับศูนย์กลางทางการเงินอื่นๆ จึงต้องมีกระบวนการในการสืบหารายละเอียดและข้อเท็จจริงก่อนจะดำเนินการใดๆ  ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องเชิงนโยบายซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งไทยมีท่าทีในการไม่สนับสนุนการกระทำใดๆที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระแสข่าวดังกล่าวเกิดจากกรณีที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์) เปิดเผยรายงานที่ชื่อว่า Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar ซึ่งจัดทำโดยนายทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา มีเนื้อหาเกี่ยวกับกรณีที่รัฐบาลเมียนมาใช้ธนาคารและสถาบันการเงิน 16 แห่ง ใน 7 ประเทศ ได้แก่ ในประเทศไทย 5 แห่ง สิงคโปร์ 3 แห่ง มาเลเซีย 2 แห่ง รัสเซีย 2 แห่ง อินเดีย 2 แห่ง จีน 1 แห่ง เกาหลีใต้ 1 แห่ง เป็นช่องทางในการทำธุรกรรมสำหรับการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ไปใช้ในการสู้รบและปราบปรามฝ่ายต่อต้านในเมียนมา