สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ว่ามีการโจมตีอย่างรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในอินเดีย โดยเฉพาะชาวมุสลิมและชาวคริสเตียน รวมไปถึงการสังหาร, ทำร้ายร่างกาย และทำลายสถานที่สักการะ

รายงานเสรีภาพทางศาสนาของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ประจำปี 2566 ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ระบุว่า เมื่อปี 2566 เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐมีความกังวล เกี่ยวกับปัญหาเสรีภาพทางศาสนาและเจ้าหน้าที่รัฐของอินเดีย โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า มีการโจมตีกลุ่มชาติพันธุ์ในอินเดียเพิ่มมากขึ้น ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งสมัยที่สาม

“ในอินเดีย เราเห็นการเพิ่มขึ้นของกฎหมายต่อต้านการเปลี่ยนศาสนา, การโจมตีสร้างความเกลียดชังทางวาจา, การรื้อถอนบ้านและสถานที่สักการะของชนกลุ่มน้อย ที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล” นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ กล่าวตำหนิอินเดีย

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์การเมืองกล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์อินเดียของสหรัฐ “เป็นไปอย่างจำกัด” เนื่องจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระดับทวิภาคีที่ใกล้ชิด และบทบาทสำคัญของรัฐบาลนิวเดลี ในการคานอำนาจกับจีน

U.S. Department of State

รายงานของสหรัฐอ้างถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือ เหตุกราดยิงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 1 รายและชาวมุสลิม 3 ราย บนขบวนรถไฟ ที่กำลังแล่นอยู่ใกล้เมืองมุมไบโดยผู้ต้องสงสัยเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรถไฟ ขณะนี้ การสอบสวนยังดำเนินอยู่

ด้านรัฐบาลอินเดียปฏิเสธการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย และกล่าวถึงนโยบายสวัสดิการ เช่น โครงการอุดหนุนอาหาร และการจ่ายไฟฟ้า เพื่อชาวอินเดียทุกคน อย่างไรก็ดี ผู้สนับสนุนด้านสิทธิได้อ้างถึงคำพูดแสดงความเกลียดชังต่อชาวมุสลิม, การเพิกถอนสถานะพิเศษของแคชเมียร์ ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม, กฎหมายความเป็นพลเมือง ซึ่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกว่าเป็น “การเลือกปฏิบัติขั้นพื้นฐาน” และการรื้อถอนทรัพย์สินของชาวมุสลิม ด้วยข้ออ้างว่าเป็นการก่อสร้างที่ผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ รายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ อ้างถึงความรุนแรงในรัฐมณีปุระ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ค. ปีที่แล้วระหว่างชนกลุ่มน้อยชาวคริสต์และชาวกูกิ กับชาวฮินดูและชาวเมเต ส่งผลให้สถานที่สักการะของชาวฮินดูและคริสเตียนในรัฐมณีปุระถูกทำลาย รายงานอ้างถึงผลการประชุมผู้นำชนเผ่าในท้องถิ่น ว่าโบสถ์มากกว่า 250 แห่งถูกไฟไหม้, มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 ราย และผู้พลัดถิ่นมากกว่า 60,000 ราย.

ปัจจุบัน ชาวฮินดูคิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของประชากร 1,400 ล้านคนของอินเดีย ขณะที่สัดส่วนชาวมุสลิมอยู่ที่ร้อยละ 14 และชาวคริสเตียนมากกว่าร้อยละ 2 มากไปกว่านั้น รายงานกล่าวถึง กฎหมายต่อต้านการเปลี่ยนศาสนาบางรัฐ ซึ่งผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวถือเป็น ความท้าทายสิทธิต่อเสรีภาพในความเชื่อ.

เครดิตภาพ : AFP