โดยการเลือก สว. ชุดที่ 13 สิ้นสุดลงแล้ว หลังกระบวนการเดินหน้ามาแล้ว 47 วัน คัดสรรจากผู้สมัครจำนวนกว่า 46,000 คน เหลือเพียงว่าที่ สว. 200 คน จากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นกระบวนการเลือก สว. แบบ “มาราธอนข้ามวันข้ามคืน” ใช้เวลาเกือบ 18 ชม. ก่อนได้รายชื่อว่าที่ สว. ชุดใหม่ 200 คน โดยเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 09.00 น. ของวันที่ 26 มิ.ย. 67 ก่อนเสร็จสิ้นการนับคะแนนในเวลา 03.30 น. ของวันที่ 27 มิ.ย. 67

ตอนนี้ได้เห็นโฉมหน้า ว่าที่ สว. 200 คน และบัญชีสำรองอีก 100 คน อาทิ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ประธานคณะที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย นายมงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีตผู้ว่าฯ อ่างทอง นายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร อดีตเลขาธิการ ปปง. นายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีต กกต. นายชิบ จิตนิยม สื่อมวลชน นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายแล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน เป็นต้น

ซึ่งในการดำรงตำแหน่งของ สว. 5 ปี นับจากนี้ บทบาทและโครงสร้างอำนาจของ “สภาสูง” แม้จะไม่มีบทเฉพาะกาล 5 ปี “โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี” แต่อำนาจหน้าที่หลักๆ ใหญ่ๆ เพื่อทำหน้าที่ ตรวจสอบ ถ่วงดุล กับ สภาผู้แทนราษฎร ยังคงเหลืออยู่ ได้แก่ 1.การพิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย 2.ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เช่น การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไปวุฒิสภา การเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา การตั้งกรรมาธิการ 3.การให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบ ให้บุคคลดำรงตำแหน่ง ในองค์กรอิสระ องค์กรตุลาการ

ซึ่ง นายสมชาย แสวงการ สว. ได้ระบุว่า ทำไมพรรคการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงสั่งระดมคนทั้งประเทศด้วยการเกณฑ์ใช้จ้างวาน ด้วยการให้หัวคะแนน นักการเมืองท้องถิ่น ให้คนในสังกัดลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา ถึงเกือบ 5 หมื่นคน เพื่อแย่งชิงเก้าอี้ สว. 200 ที่นั่ง เพื่อควบคุมวุฒิสภาไว้ในมือ 1.เพื่อต้องการควบรวม 2 สภา คือ สส. และ สว. แบบสั่งได้ไปในทิศทางเดียวกัน 2.ควบคุมการออกกฎหมายตามต้องการ 2.1 แก้กฎหมายอกเสียงประชามติ จากแบบเสียงข้างมากพิเศษ double majority ให้แก้ง่ายเป็นเสียงข้างมากธรรมดา 2.2 พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอาจรวม ม.112 (สุดซอยภาค 2) 2.3 ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามที่ฝ่ายการเมืองบงการร่วมกัน

3.ควบคุมการเลือกและให้ความเห็นชอบศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมากมาย ในช่วงปี 2567-2571 จากนี้ไป ได้แก่ ประธานศาลปกครองสูงสุด นายประสิทธิศักดิ์ ที่วุฒิสภาชุดเก่ารอให้ความเห็นชอบอยู่ อัยการสูงสุด นายไพรัช ที่วุฒิสภาชุดเก่ารอให้ความเห็นชอบอยู่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลการรัฐธรรมนูญที่จะครบวาระ 2 คน กรรมการ ป.ป.ช. 5 คน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 6 คน ผู้ตรวจการแผ่นดิน 1 คน

รายชื่อว่าที่ สว. 200 คน ที่ปรากฏชื่อออกมา ถูกมองว่าเป็นสาย “บ้านใหญ่เซาะกราว” สีน้ำเงิน ที่ สส.พรรคภูมิใจไทย เป็นฐานเสียง จะอยู่แทบทุกกลุ่ม เช่น บุรีรัมย์ พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี บึงกาฬ ศรีสะเกษ อ่างทอง อำนาจเจริญ พัทลุง สงขลา ยะลา สตูล เป็นต้น เข้ามาเกิน 100 คน ทำให้ สว.สายสีแดง สีส้ม เข้ามาน้อยกว่าที่ตั้งเป้า ผิดคาดอย่างมาก

ซึ่งกลยุทธ์ของพรรคสีน้ำเงิน ถือว่ามีการวางเกมขยับก่อนกลุ่มการเมืองอื่นๆ โดยใช้กลไกหน่วยงานองคาพยพ ที่อยู่ในการควบคุม ทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น เช่น เครือข่ายผู้ว่าฯ เครือข่าย อสม. รวมถึงสูตรการเลือกตั้ง สว. จะพิสดารขนาดไหน แต่ก็ไม่เกินฝีมือของ “ครูใหญ่” เนวิน ชิดชอบ ที่เชี่ยวชาญในทุกสนามเลือกตั้ง 

ซึ่ง “ขั้วอำนาจ” ในปัจจุบัน ส่งตัวแทนเข้ามาเป็น สว. เพื่อยึดอำนาจ “สภาสูง” หรือไม่ ตรงนี้ สว. ทั้ง 200 คน ต้องพิสูจน์ฝีมือในการทำงานตลอดระยะเวลา 5 ปี เพื่อลบข้อครหาจากสังคมให้ได้.