เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีพิธีลงนาม MOU โครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และพิธีลงนาม MOU ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ด้านการวิเคราะห์ทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องของศูนย์ความเป็นเลิศด้านยานยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย (Thailand EV Center of Excellence, TECE) ระหว่าง สวทช. กับ China Automotive Engineering Research Institute (CAERI) นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรากฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย

หลังจากพิธีลงนามฯ ดังกล่าว น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการชั้นนำด้าน EV ที่มาลงทุนสร้างโรงงานในประเทศไทยแล้วกว่า 8 บริษัท ได้แก่ GWD, Changan, Neta, BYD, Aion, Jaecoo, MG และ Geely ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมกันไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ น.ส.ศุภมาส เปิดเผยว่า ตนได้ขอความร่วมมือบริษัทชั้นนำด้าน EV ให้ช่วยกันส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทย และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้พัฒนาอุตสาหกรรมไปด้วยกัน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มีการตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2568 ให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และในปี 2573 จะขยายให้เป็น 30 เปอร์เซ็นต์

รมว.อว. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการด้าน EV ทั้ง 8 บริษัท ยินดีให้ความร่วมมือและได้ขอบคุณกระทรวง อว. กับกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้สร้างมาตรฐานการทดสอบที่จะส่งเสริมให้ไทยเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” (Detroit of Asia) ด้าน EV เพิ่มเติมด้วย และได้แสดงเจตจำนงว่า ต้องการที่จะใช้ผู้ประกอบการไทยใน Value chain สำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะขยายการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC เพื่อรองรับการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าไปทั่วโลกอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ขอให้ช่วยสนับสนุนเพิ่มเติมใน 2 เรื่องหลัก คือ การประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม และด้านมาตรฐานการศึกษาที่ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

“ดิฉันได้เน้นย้ำและให้ความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการว่า การพัฒนาบุคลากรเป็นภารกิจหลักของกระทรวง อว. ที่สำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น อว. ได้ประกาศนโยบาย อว. for EV เป็นโครงการเรือธง (Flagship project) ของกระทรวง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรม และได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาบุคลากรด้าน EV ไว้ที่ 150,000 คน ภายใน 5 ปี รวมทั้งกระทรวง อว. ยังได้เชิญคุณ Lilly Han, Business Director ของ Beifang Automotive International Education Group ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตและพัฒนาทักษะกำลังคนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม EV ที่ใหญ่ที่สุดของจีน มาร่วมหารือ โดยจะมีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันและเตรียมพร้อมที่จะเผยแพร่แพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning platform) ซึ่งจะมี AI teacher หรือครู AI มาช่วยในการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์และโต้ตอบกับผู้เรียน เพื่อที่จะป้อนกำลังคนเข้าสู่อุตสาหกรรมให้บรรลุผลตามเป้าโดยเร็ว นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังจะมีการลงทุนศูนย์ปฏิบัติการฝึกทักษะ 2 แห่ง โดยคาดว่าจะสามารถเปิดอบรมได้ภายในเดือนกันยายน 2567 และจะผลิตคนให้ได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ภายใน 1 ปี นับจากเปิดการอบรม” น.ส.ศุภมาส กล่าว