จากกรณีเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 5/2567 โดยวาระที่น่าสนใจ คือ กรณี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งที่ 177/2567 ลงวันที่ 18 เม.ย. 2567 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการตำรวจ และกรณี ตร. มีคำสั่งที่ 178/2567 ลงวันที่ 18 เม.ย. 2567 ให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน โดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์เห็นชอบกับผลสรุปการสอบสวนของคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย (อนุ ก.ตร.) เรื่องให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน ชอบด้วยกฎหมายนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เปิดเผยว่า สำหรับอำนาจหน้าที่ของ อนุ ก.ตร. จะไม่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของข้าราชการตำรวจ ดังนั้นตนจึงได้ไปยื่นเรื่องกับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนกรณีของการจะนำเอามติของคณะอนุ ก.ตร. มาใช้เพื่อยืนยันการกระทำของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. (รรท.ผบ.ตร. ขณะนั้น) ว่าชอบด้วยกฎหมายนั้น ตนต้องถามว่าคณะอนุ ก.ตร. มีอำนาจในเรื่องนี้ด้วยหรือ ในเมื่อเขาพิจารณาเรื่องอำนาจของ ผบ.ตร. ได้อย่างเดียว

ส่วนถ้าจะบอกว่ามีอำนาจตามมาตรา 131 (1) หากไปดูในข้อกฎหมาย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พยายามพูดแค่ ม.131 แต่ไม่พูดถึง ม.120 ทั้ง ๆ ที่ ม.131 มี (6) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสั่งพักราชการไว้ก่อน และสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยให้รอฟังผลการสอบสวน อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ มีความลักไก่ พูดไม่ครบและเร่งรีบ ไม่ดูว่ากฎ ก.ตร. พ.ศ. 2547 มันขัดกับ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ขัดกับมาตรา 120 เนื่องจาก กฎ ก.ตร. พ.ศ. 2547 แม้ให้อำนาจ ผบ.ตร. สั่งให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อนได้ แต่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ระบุชัดเจนว่าต้องฟังผลการสอบสวนของคณะกรรมการการสอบสวนวินัยก่อน

การที่ตนเองถูกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ต่อมาได้มีความเห็นเสนอแนะของคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุตอบกลับนายกรัฐมนตรีว่า คำสั่ง ตร. ที่ให้ตนเองออกจากราชการนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นข้อสังเกตได้ว่าความเห็นในส่วนของกฤษฎีกา ศาลจะใช้รับฟังได้ อีกทั้งหากย้อนไปก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเองก็เคยกล่าวว่า คำสั่งไม่สมบูรณ์ จึงไม่มีการนำขึ้นกราบบังคมทูล และส่งหนังสือกลับให้ ผบ.ตร. เท่ากับว่านายกฯ ยืนยันด้วยตัวเองแล้วว่า คำสั่งมันไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม กรณีเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ปรากฏว่า นายกฯ กลับไปนั่งเป็นประธาน ก.ตร. ในที่ประชุม ทั้ง ๆ ที่บอกเองว่าคำสั่งที่ตนเองโดนนั้นมันยังไม่สมบูรณ์ แต่พอที่ประชุมมีมติ 12:0 กลับไปรับรองมติ และไม่คัดค้าน ไม่ยกเอาความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามาประกอบหารือ ทั้งยังไม่เลื่อนวาระนี้ออกไปก่อน เพราะความจริงแล้ว นายกฯ สามารถแจ้งที่ประชุมได้ว่าจะต้องรอผลการสอบสวนของ ก.พ.ค.ตร. ที่มีกรอบระยะเวลา 30 วัน ก่อนค่อยมาหารือกัน แบบนี้ตนเรียกว่า “กระทำความผิดโดยสำเร็จแล้ว”

ดังนั้น ต่อจากนี้ตนจะเดินหน้าดำเนินคดีคนที่กระทำความผิด รวมถึงการฟ้อง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และที่ประชุม ก.ตร. ทั้ง 12 เสียง ตนยืนยันว่า ต้องเดินหน้าหาความยุติธรรม ตนไม่ได้จะเป็นศัตรู ไม่ได้จะท้ารบกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แต่การลงมติ 10 กว่าคนนี้ในที่ประชุม มันเป็นเรื่องความถูกและความผิด จะทำอะไรก็ต้องดูอำนาจของหน่วยตัวเองด้วย สถานการณ์ตอนนี้มันเหมือนการเล่นตะกร้อ ชงเองเล่นเอง ทั้งนี้ ภายในสัปดาห์หน้าอาจเดินเรื่องฟ้อง คณะที่ประชุม ก.ตร. แต่ตนขอเวลาอ่านเอกสารก่อน