สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ว่าประธานาธิบดีวิลเลียม รูโต ผู้นำเคนยา แถลงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ยืนยันจะไม่ลงนามในกฎหมายการคลังฉบับใหม่ ที่มีเนื้อหารวมถึงมาตรการขึ้นภาษีหลายรายการ ซึ่งเป็นชนวนเหตุให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ทั่วประเทศในสัปดาห์นี้ และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 22 ราย ในจำนวนนี้อย่างน้อย 19 ราย เป็นผู้เสียชีวิตในกรุงไนโรบี และมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 300 คนทั่วประเทศ


ทั้งนี้ การที่รูโตไม่ลงนาม จะเท่ากับเป็นการเริ่มต้นกระบวนการเพิกถอนกฎหมายโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม บรรดาแกนนำของผู้ประท้วงที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาว ยังคงไม่พอใจกับท่าทีของรัฐบาล โดยมองว่า “เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น”

ประธานาธิบดีวิลเลียม รูโต ผู้นำเคนยา


ปัจจุบัน เคนยาเป็นหนึ่งในประเทศซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องที่สุด ในภูมิภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกา แต่ประชากรราว 1 ใน 3 จากทั้งหมดประมาณ 52 ล้านคน ยังคงมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับยากจน


นอกจากนี้ สถานะการคลังของเคนยาไม่สู้ดีนักในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเงินเคนยาชิลลิงอ่อนค่าอย่างหนัก ส่งผลให้การชำระหนี้เป็นสกุลเงินต่างประเทศยิ่งสูง และรัฐบาลของรูโตซึ่งเข้ามาบริหารประเทศ เมื่อปี 2565 ยืนกรานมาตลอด ว่าการขึ้นภาษีเป็นหนึ่งในมาตรการจำเป็น เพื่อบรรเทาภาระหนี้สาธารณะของประเทศ ที่ตอนนี้สูงถึง 10 ล้านล้านเคนยาชิลลิง (ราว 2.86 ล้านล้านบาท) หรือเทียบเท่า 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)


แม้เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลเคนยายอมยกเลิกแผนการขึ้นภาษีขนมปัง รถยนต์ การใช้บริการการเงินและโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังประเมินว่า เคนยายังคงขาดดุลงบประมาณอีกราว 200,000 ล้านเคนยาชิลลิง (ราว 57,221.70 ล้านบาท).

เครดิตภาพ : AFP