เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการเยี่ยมให้กำลังใจแก่คณะทำงานในการจัดทำระบบข้อมูลสำหรับการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา โดยมีคณะทำงาน ผู้อำนวยการสำนัก และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ โรงแรมเบลล่าบี จังหวัดนนทบุรี

โดยการประชุมในครั้งนี้ ได้จัดทำแหล่งข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก ประกอบด้วย 1. เว็บไซต์ “การบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก” เพื่อแสดงข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็กในภาพรวม อาทิ จำนวนโรงเรียน จำนวนนักเรียน จำนวนห้องเรียน จำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ข่าวสารสำคัญ ตลอดจน Best Practice และนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนขนาดเล็ก 2. ระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นฐานข้อมูลของโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัด สพฐ. ในทุกมิติและใช้ในการศึกษาวิเคราะห์ความต้องการสภาพปัจจุบัน ความจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก 3. ระบบจัดสรรค่าพาหนะรับ-ส่งนักเรียน 4.ระบบรายงานการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของสถานศึกษา และ 5. ระบบจัดเก็บข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ได้กล่าวกับคณะทำงานว่า รู้สึกดีใจที่ได้เห็นนักพัฒนาเว็บและระบบฐานข้อมูลของ สพฐ. เพราะเมื่อมีบุคลากรของเราดำเนินการเอง ก็จะเห็นภาพได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น เนื่องจากเราจะรู้ข้อมูลที่เกี่ยวกับโรงเรียนเป็นอย่างดี และเชื่อมโยงข้อมูลกันได้อย่างไร้รอยต่อ ถือว่าเป็นบุคคลที่ล้ำค่ายิ่ง อีกประการหนึ่ง คือ คณะทำงานชุดนี้ มีความครบถ้วนตามองค์ประกอบของตำแหน่งทั้งส่วนกลาง (ผู้แทนจากสำนักต่างๆ) และส่วนภูมิภาค (ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา) ซึ่งจะทำให้สามารถมองภาพรวมของการจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ นอกจากนี้ การทำระบบข้อมูลสารสนเทศ จะช่วยลดภาระการรายงานข้อมูลจากโรงเรียนและเขตพื้นที่ ตอบโจทย์ในเรื่องการอำนวยความสะดวกที่ถูกต้องตามหลักการที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินงาน สามารถนำข้อมูลทั้งหมดไปวิเคราะห์ข้อมูล เกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ และตอบโจทย์เรื่องการจัดสรรงบประมาณ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการกระจายงบประมาณ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ทำให้ สพฐ. สามารถมองภาพรวมและจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“ทั้งนี้ ได้มีข้อแนะนำให้คณะทำงานปรับปรุง/เพิ่มเติม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ ขอให้เพิ่มข้อมูลโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล อยู่ในพื้นที่ยากลำบากในการเดินทาง ขอให้มีข้อมูลเชื่อมโยงโครงการต่างๆ ที่โรงเรียนกำลังดำเนินการอยู่ รวมถึงให้มีการจำแนกกลุ่มสีของโรงเรียนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ใหญ่พิเศษ รวมทั้งโรงเรียนที่ใช้ DLTV โดยหากต้องการข้อมูลเชิงคุณภาพของแต่ละโรงเรียน ทางเขตพื้นที่จะต้องรู้ว่า คุณภาพของผู้เรียน คุณลักษณะที่ดี หรือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (ผลคะแนน O-NET, RT, NT) ย้อนหลัง 3 ปี 5 ปี มีผลการเรียนต่อรายวิชาเป็นอย่างไร เช่น หากผลการเรียนยังคงต่ำ ทางเขตพื้นที่ต้องไปพัฒนาศักยภาพของครูรายวิชานั้น และให้ดูงบประมาณของโรงเรียนขนาดเล็ก ว่าได้รับการจัดสรรงบประมาณอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด เมื่อเทียบกับโรงเรียนขนาดใหญ่ หรือขนาดอื่นๆ เป็นต้น เหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กเกิดความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ สามารถขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. รวมถึงนโยบายและจุดเน้นของ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ลงสู่การปฏิบัติได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียนและครูในโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศอย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว