สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซา) ประกาศว่า ดาวเทียมดังกล่าวถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรด้วยจรวดฟัลคอน เฮฟวี่ ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ จากศูนย์อวกาศเคนเนดีของนาซา ในรัฐฟลอริดา เมื่อเวลา 17.26 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐ

ภารกิจดาวเทียม “โกส์-ยู” (GOES-U) ซึ่งย่อมาจาก Geostationary Operational Environmental Satellite U เป็นความร่วมมือระหว่างนาซา กับสำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ (โนอา) ซึ่งมันเป็นดาวเทียมดวงที่ 4 และดวงสุดท้ายของชุดดาวเทียมที่ติดตามเฮอร์ริเคนและทอร์นาโด รวมถึงตรวจสอบสภาพอากาศ อุณหภูมิผิวน้ำทะเล และคุณภาพอากาศ ตลอดจนตรวจจับอุกกาบาต นับตั้งแต่ปี 2559

อนึ่ง ชุดดาวเทียมข้างต้นโคจรเหนือเส้นศูนย์สูตรประมาณ 35,785 กิโลเมตร และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่ากับการหมุนของโลก เพื่อรักษาตำแหน่งเหนือพื้นที่เฉพาะ และรายงานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

“พวกมันเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ในการปกป้องสหรัฐ และประชาชนนับพับล้านคนที่อยู่อาศัยและทำงานในอเมริกา” นางแพม ซัลลิแวน จากโนอา กล่าวในการแถลงข่าว

ด้านนายเอลซาเยด ทาลาต ผู้รับผิดชอบการสังเกตการณ์สภาพอวกาศของโนอา กล่าวเสริมว่า ดาวเทียมโกส์-ยู ช่วยสังเกตการระเบิดขนาดใหญ่จากดวงอาทิตย์ หรือซีเอ็มอี ซึ่งส่งมวลสารหลายพันล้านตันมายังโลก ด้วยความเร็วหลายล้านไมล์ต่อชั่วโมง และสามารถรบกวนสนามแม่เหล็กโลก ส่งผลให้ดาวเทียม, โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และระบบนำทางชะงักงันชั่วคราว

นอกจากนี้ การรวบรวมข้อมูลสภาพอวกาศ ยังช่วยให้ทางการสามารถออกคำเตือนล่วงหน้าได้ 1-4 วันด้วย.

เครดิตภาพ : AFP