เรียกได้ว่าเป็นภาพที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 67 มีการแชร์โพสต์จากผู้ใช้เพจเฟซบุ๊ก “วัดตระพังทอง เมืองเก่า สุโขทัย” ซึ่งทางวัดได้มีการติดประกาศป้ายเตือนห้ามปล่อยปลาดุก ไว้บริเวณริมเกาะกลางน้ำรอบวัด โดยทางวัดระบุข้อความว่า “เตือนคนทำบุญห้ามปล่อยปลาดุก ทำลายระบบนิเวศ #ห้ามปล่อยปลาดุก”

อีกทั้งป้ายที่ประกาศเตือนยังระบุข้อความว่า ปล่อยปลายังไงให้ได้บุญ?
– ไม่แนะนำให้ปล่อยถ้าเป็นไปได้
– เพราะส่วนใหญ่กลายพันธุ์มา
– มันกินปลาตัวอื่นที่เล็กกว่าหมด (งดปล่อยปลาดุกลงแหล่งน้ำ เปรียบเสมือนปล่อยฝูงซอมบี้บุกหมู่บ้าน) เพราะทำบุญแต่กลับได้บาป

อีกทั้ง ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2563 ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ (ผู้เชี่ยวชาญระบบนิเวศน้ำจืด) เคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงเรื่องดังกล่าวว่า
ปลาดุก 1 ตันกินสัตว์น้ำประมาณ 1,800,000 ตัวต่อปี ปลาดุกที่นิยมเลี้ยงเพื่อนำมาเป็นอาหารในปัจจุบันในประเทศไทย เป็นปลาดุกลูกผสมที่เกิดจากปลาดุกยักษ์ จากทวีปแอฟริกาและปลาดุกอุย ลูกปลาที่เกิดมาเป็นปลาลูกผสม ที่ถือว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เรียกชื่อทางการค้าว่าปลาดุกบิ๊กอุย ได้ปลาที่โตเร็ว มีเนื้อดีพอสมควรและเป็นหมัน การใช้ประโยชน์คือนำมาบริโภคตามจุดประสงค์ที่ถูกเลี้ยงขึ้นมา ในปัจจุบันมีผู้นิยมนำปลาดุกบิ๊กอุย ไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศไทยเพื่อทำบุญ แต่การกระทำดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่นั้นๆ

นอกจากนี้ ถ้าอยากใช้เงินในการช่วยสัตว์ ขอแนะนำให้นำเงินไปบริจาคให้องค์กรการกุศลต่างๆ ที่ช่วยเหลือสัตว์ในธรรมชาติ อย่าง สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย มูลนิธิสืบฯ มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก หรือพวกกองทุนที่ช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่า ซึ่งลำบากเสี่ยงชีวิตรักษาป่าให้พวกเรา แบบนั้นพวกเค้าจะเอาเงินของคุณไปช่วยให้สัตว์ได้อยู่ในธรรมชาติ ในบ้านของเค้าอย่างมีความสุข ได้บุญแน่นอนอีกด้วย..

ขอบคุณข้อมูล : วัดตระพังทอง เมืองเก่า สุโขทัย และ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ (ผู้เชี่ยวชาญระบบนิเวศน้ำจืด)