สภาพพื้นที่ทางภาคเหนือ มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน มีความหลากหลายทางชีวภาพและมีพื้นที่ดอยที่สวยงามคงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและเป็นที่ชื่นชอบแก่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชมธรรมชาติ แต่พื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูกาลของการเกิดไฟป่า กลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการท่องเที่ยวและกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติทั้งสัตว์ป่าและพืชพันธุ์นานาชนิด


อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในอุทยานแห่งชาติทางภาคเหนือที่มีความสวยงามดังกล่าวและยังเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิงตอนบน ด้วยสภาพพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง สลับซับซ้อนทำให้เมื่อเกิดเหตุไฟป่าในพื้นที่กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินทางเข้าไปช่วยดับไฟ


นายอานนนท์ กุลนิล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติและปฏิบัติงานอุทยานแห่งชาติในพื้นที่แถบภาคเหนือมาหลายพื้นที่ มีความประทับใจในการทำงานทุกพื้นที่ เมื่อเกิดเหตุไฟป่า สิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่จะทำ คือ เราจะใช้โดรนบินตรวจหัวไฟและดูแผนที่ในการเดินเข้าไปดับไฟป่าแต่ละครั้ง โดยจะเข้าไปดับตั้งแต่หัวไฟ ไล่ลงมาจนกระทั่งไฟป่าดับ เมื่อต้องเผชิญกับพื้นที่บนดอยสูง ต้องใช้การเดินเท้าที่ยากลำบากและใช้เวลายาวนานในการควบคุมไฟป่า แต่สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เกิดความประทับใจในการเข้าไปช่วยดับไฟป่าในพื้นที่ต่างๆ เช่น เหตุการณ์ที่สถานีควบคุมไฟป่าห้วยฮ้องไคร้และอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ทีมเราต้องเข้าไปช่วยดับไฟป่าในพื้นที่บนดอย เริ่มต้นตั้งแต่เช้ากระทั่งเสร็จภารกิจในการดับไฟราวๆ ตี 3 ตี4 ใช้เวลายาวนานเกือบ 12 ชั่วโมง ความยากลำบาก คือ พื้นที่มีความสูงชัน ดับไฟยาก เจ้าหน้าที่ทั้งเหนื่อย ร้อน และหิว เมื่อดับไฟเรียบร้อยแล้วก็ทำกับข้าวกับลูกน้องกินกัน กลายเป็นความสุขเล็กๆ ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันทำงานจนสำเร็จ สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดไฟป่าในพื้นที่ คือ เป็นพื้นที่หาของป่า ทั้งประมาทหรือจงใจทำให้เกิดไฟลุกลามในพื้นที่ การเข้าไปดับไฟป่าในพื้นที่ยากลำบากเช่นนี้ เจ้าหน้าที่ต้องมีความชำนาญในการดับไฟ ก่อนเข้าพื้นที่มีการอบรมซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ มีสาธิตวิธีการดับไฟ และส่วนใหญ่ไม่มีเจ้าหน้าที่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจะมีเพียงการโดนกิ่งไม้เกี่ยวเป็นแผลเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานแต่อย่างใด เพราะทุกนายล้วนผ่านการฝึกฝนและมีประสบการณ์ในการดับไฟป่า

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ สำหรับอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ได้มีการปรับแผนชิงเผาโดยการควบคุมเพิ่มเติม ทำให้มีไฟป่าในพื้นที่ลดลงเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ไม่มีอาการเหนื่อยล้า สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังได้เครือข่าย อส.อส. ซึ่งเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ เข้ามาเป็นกำลังเสริมในการช่วยดับไฟ โดย “การชิงเผาหรือเผาโดยการควบคุม” คือ การควบคุมสิ่งที่เป็นเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าเต็งรังซึ่งเป็นแหล่งหาของป่า และเป็นพื้นที่เกิดไฟป่าซ้ำซากทุกปี เป็นการลดปริมาณเชื้อเพลิง แต่ไม่ใช่ว่าใครคิดอยากจะเผา จะสามารถทำทันที กระบวนการชิงเผานั้น ต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขที่มีการวางแผนและควบคุมอย่างรอบคอบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง เช่น การลดปริมาณเชื้อเพลิง ช่วยควบคุมไฟป่าไม่ให้มีความรุนแรงมากเกินไป การชิงเผาจะช่วยลดปริมาณเชื้อเพลิงที่มีอยู่สำหรับไฟป่าที่จะแพร่กระจาย ทำให้ง่ายต่อการควบคุมไฟป่า เป็นต้น


เมื่อถามว่ายังขาดอะไรบ้างในการดับไฟป่าแต่ละครั้ง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา กล่าวว่า คิดว่าจากการทำงานที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นดอยสุเทพ ออบขาน ห้วยฮ่องไคร้ ดอยอินทนนท์ หรือศรีลานนา สิ่งที่อยากให้มีในทุกพื้นที่ คือ เจ้าหน้าที่ชุดดับไฟป่าที่เพิ่มกำลังพลให้เจ้าหน้าที่ลาดตระเวน (Smart Patrol) เนื่องจากหากทุกหน่วยมีเจ้าหน้าที่ชุดดับไฟโดยเฉพาะที่มีความพร้อมในการเผชิญเหตุเป็นหลักจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการดับไฟ เช่น ใช้โดรนในการตรวจดูการเกิดไฟป่า กล้องดักถ่าย (Camera Trap) ที่สามารถใช้ในการตรวจตราคนเข้าไปลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ รวมถึงชุดปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ทุกนาย ซึ่งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้พวกเขาทุกคน เป็นต้น
การถอดบทเรียนต่างๆ เหล่านี้ เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าไปเผชิญอันตรายจากไฟป่าในพื้นที่สูงชันยากลำบากที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่ทุกฤดูกาลการเกิดไฟ และต้องใช้ทั้งความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์การทำงาน เพื่อให้เกิดความสำเร็จต่อไป.