นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยถึงแนวโน้มค่าไฟงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 67 ว่า ทิศทางราคาค่าไฟงวดสุดท้ายของปี ต้องติดตามสถานการณ์ต้นทุนราคาพลังงานอีกครั้ง โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในตลาดโลก ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติของไทย รวมทั้งปัจจัยอื่น เช่น ค่าเงินบาท ที่จะส่งผลต่อการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือเอฟที จนสะท้อนต่อราคาค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่าย จากงวดปัจจุบัน (พ.ค.-ส.ค. 67) อยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท โดย กกพ. จะเร่งรวบรวมข้อมูลต้นทุนทุกด้านเพื่อคำนวณค่าเอฟที และประกาศรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ช่วงต้นเดือน ก.ค. นี้
“ตอนนี้ราคาแอลเอ็นจี อยู่ระดับซอฟต์ คือ ประมาณ 12 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านลูกบาศก์ฟุต ส่วนจะสามารถตรึงให้อยู่ระดับงวดปัจจุบันหน่วยละ 4.18 บาท หรือลดลงกว่านี้หรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ ขอดูองค์ประกอบจากทุกส่วนก่อน ถ้าสถานการณ์ทุกอย่างดี กกพ. ก็อยากประกาศข่าวดีให้กับประชาชนอยู่แล้ว ขอดูสถานการณ์อีกนิด ส่วนกรณีภาคเอกชนต้องการให้ค่าไฟฟ้าลดลงกว่านี้ อยากให้มองว่า ไทยมีความมั่นคงไฟฟ้า เป็นไฟฟ้าคุณภาพ และตอนนี้เทรนด์ลงทุนทั่วโลกไม่ได้มองว่าค่าไฟต้องถูกหรือแพงเป็นสำคัญ แต่เขาจะมองว่า ไฟฟ้าที่ได้มาเป็นการผลิตที่สะอาด เป็นไฟสะอาดหรือไม่ เพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดโลกได้”
สำหรับความคืบหน้าการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เฟส 2 อีก 3,668.5 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน กกพ. อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าใหม่ ใน 2-3 ประเด็น เช่น การห้ามไม่ให้มีการฟ้องร้องหลักเปิดดำเนินโครงการฯ เป็นต้น เรื่องนี้จะต้องนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก่อน
“การจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เฟส 2 ยังต้องพิจารณาในหลายส่วน เช่น แผนพีดีพีใหม่ออกมาแล้วจะมีผลกระทบกับโครงการฯ เฟส 2 อย่างไร และผลการฟ้องร้องต่อศาลฯ ในคดีพลังงานลม จากการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในโครงการฯ เฟส 1 ที่คาดว่า จะมีคำตัดสินออกมาในเร็วๆ นี้”
ส่วนวิสัยทัศน์ ในฐานะเลขาธิการสำนักงาน กกพ. คนใหม่ เน้นการเป็นหน่วยงานแห่งความเชื่อมั่น และไว้วางใจของสังคมในการกำกับกิจการพลังงานภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมั่น 4 ด้าน คือ สร้างความเชื่อมั่นกำกับดูแลกิจการพลังงานด้วยการประสานความร่วมมือกับภาคนโยบาย ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วยการวางบทบาทสำนักงาน กกพ. เป็นองค์กำกับดูแลกิจการพลังงานภายใต้นโยบาย พร้อมกับจะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้และยกระดับการกำกับดูแลตามภารกิจให้ครบถ้วนและเกิดความยั่งยืน, ทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ขยายเครือข่ายและแลกเปลี่ยนวิธีการและแนวทางการกำกับกิจการพลังงานกับองค์กรกำกับดูแลด้านพลังงานในต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยร่วมกันกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหล่อหลอมเป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่เหมาะสมต่อการกำกับกิจการพลังงานของไทย
นอกจากนี้ จะมุ่งพัฒนาการบริหารองค์กรให้สามารถกำกับดูแลกิจการพลังงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ควบคู่กับการยกระดับพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรให้ตอบสนองต่อการรองรับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งอนาคต ที่มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตอบโจทย์ในทุกภารกิจของสังคมทั้งในวันนี้และวันหน้า และสร้างการมีส่วนในการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานและพัฒนาเครือข่ายพันธมิตรการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจต่อพื้นที่ชุมชนอย่างยั่งยืน สื่อสารประชาสัมพันธ์การกำกับกิจการพลังงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อมวลชนครอบคลุมทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค