ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผบก.ภ.จว.ฉะเชิงเทรา พ.ต.อ.สมชาย อยู่สวัสดิ์ รอง ผบก. พ.ต.อ.กิตติสัณห์ ชะนะ รอง ผบก. นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา นางสาวยุพิน หงษ์วะชิน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นายประชา คล้ายสิงห์ ที่ปรึกษาตำรวจภูธรภาค 2 กอ.รมน.ฉะเชิงเทรา นายอำเภอ 11 แห่ง หัวหน้าสถานีตำรวจ 18 แห่ง กต.ตร. อสม. และส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ศาลาอเนกประสงค์ วัดผาณิตาราม อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้มีการมอบป้ายศูนย์ปฏิบัติการโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติด จำนวน 18 แห่ง รับมอบชุดตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ​​ 42,000 ชุด​ จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา (อบจ.) และร่วมทำ MOU กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในโครงการตำรวจอัจฉริยะ เพื่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สนับสนุนโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืน    

พล.ต.ต.นเรวิช สุคนธวิท ผบก.ภ.จว.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า การติดยาเสพติด เป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาวสุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงสังคมและประเทศชาติ หากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และสร้างความยั่งยืน ซึ่งคาดการณ์แนวโน้มว่าจำนวนผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด จะเพิ่มขึ้นตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับปัญหาเศรษฐกิจ การศึกษา โครงสร้างและสัมพันธภาพของครอบครัว การเลี้ยงดู ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ หลายฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกัน แก้ไข บำบัดรักษา และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด เริ่มดำเนินการตั้งแต่กระบวนการค้นหา คัดกรอง ฟื้นฟู และลดอันตรายจากยาเสพติด อีกทั้งสร้างภูมิคุ้มกัน ติดตาม ดูแล และช่วยเหลือทางสังคม ใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการดูแลผู้ผ่านการบำบัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างสงบสุข ภายใต้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงระดับสากล เป็นไปตามหลักการสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชน

พล.ต.ต.นเรสิช กล่าวต่อไปว่า “โครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืน” เป็นโครงการเร่งด่วนของรัฐบาลประจำปี 2567 เน้นนำผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ผู้ป่วยจิตเวช เข้าสู่กระบวนการรักษาทางสาธารณสุข แทนการลงโทษทางกระบวนการยุติธรรม มุ่งเน้นการแก้ไขในเชิงสุขภาพ ยึดหลักผู้เสพคือผู้ป่วย ให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูร่างกาย ดูแลช่วยให้สามารถลด ละ หรือเลิกใช้ยาเสพติดได้ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมชุมชน เพื่อให้ผู้ติดยาเสพติด ได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติในสังคมยั่งยืนต่อไป สำหรับ โครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนของจังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการภายใต้แนวคิด 1 เสาเอก 5 เสาหลัก ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ตำรวจ ท้องถิ่น และภาคประชาชน ลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านอย่างใกล้ชิด ใช้ชีวิตร่วมกับคนในชุมชน โดยใช้ชุดปฏิบัติการ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการร่วมกันในพื้นที่ทุกอำเภอ ภายใต้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี 2564 ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

โดยมีกระบวนการดำเนินงาน 3 ขั้นตอนดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียมการ ขั้นตอนที่ 2 ขั้นปฏิบัติการ กระบวนการค้นหาผู้เสพ (X-Ray 100%) กระบวนการกลั่นกรองและรับรองบุคคล กระบวนการชุมชนบำบัด (CBTX) กระบวนการสร้างกฎชุมชน มาตรการทางสังคม เพื่อควบคุมดูแลคนในชุมชน กระบวนการพัฒนาชุมชน ลดระบบนิเวศเชิงลบ เพิ่มระบบนิเวศเชิงบวก และขั้นตอนที่ 3 การส่งต่อความยั่งยืน โดยตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า ทำอย่างไร เมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้ว เราจะได้ชุมชนที่ปลอดภัย มีภูมิคุ้มกันและสามารถบริหารจัดการตนเองได้