ล่าสุด กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. กระทรวงพลังงาน ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567-2580 (AEDP2024) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2567-2580 (EEP2024) ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนพลังงานของชาติ ที่ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สำหรับสาระสำคัญของ ร่าง AEDP 2024 ได้กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 36% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ณ ปี พ.ศ. 2580 ในขณะที่การใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าทั้งจากภายในประเทศและซื้อจากต่างประเทศนั้น จะมีสัดส่วนสูงถึง 61% สูงกว่าไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่มีสัดส่วน 39% ซึ่งไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จะมีกำลังการผลิตรวม 73,286 เมกะวัตต์ เป็นพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด รวม 41,763 เมกะวัตต์ (เป็นพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยนํ้า 2,789 เมกะวัตต์) รองลงมาคือ พลังงานลม 9,379 เมกะวัตต์ และ ชีวมวล 5,490 เมกะวัตต์ ขณะที่พลังนํ้านำเข้าจากต่างประเทศ มีจำนวน 10,295 เมกะวัตต์

เป้าหมายการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพนั้น จะลดชนิดนํ้ามันในแต่ละกลุ่มของการขนส่งทางถนน โดยกลุ่มดีเซลจะส่งเสริม B7 เป็นนํ้ามันหลัก ตั้งเป้า 2.46 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนกลุ่มเบนซินจะส่งเสริม E10 เป็นนํ้ามันหลัก ตั้งเป้า 1.55 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่การส่งเสริมเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ตั้งเป้า 1.85 ล้านลิตรต่อวัน และการส่งเสริมเชื้อเพลิงทางเลือกเช่นไฮโดรเจนสำหรับการขนส่ง ตั้งเป้า 1,395 ตันในปี 2580

แผนพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ตาม AEDP 2024 จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ 20,000 พันตันเทียบเท่านํ้ามันดิบ เทียบเท่ามูลค่าการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ไม่น้อยกว่า 400,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 7,000 อัตรา เกิดมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท สร้างรายได้ทางการเกษตรจากการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพได้ไม่น้อยกว่า 41,000 ล้านบาท/ปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในภาคพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 75 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี พ.ศ. 2580 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2565

สำหรับร่างแผน EEP2024 ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากแผน EEP2018 ได้ปรับเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานลดความเข้มการใช้พลังงาน Energy Intensity เป็น 36% ในปี พ.ศ. 2580 หรือคิดเป็นพลังงานที่คาดว่าจะลดได้ 35,497 พันตันเทียบเท่านํ้ามันดิบ คิดเป็นมูลค่า 532,455 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 106 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

หลังจากพพ.ได้เปิดแสดงความเห็นมีทั้งภาคเอกชนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวาง เช่น “ดุสิต​ เครืองาม” ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแสงอาทิตย์ แสดงความเห็นสนับสนุนร่างแผน AEDP​2024​ ที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ มากกว่าแผน AEDP​2018 ฉบับก่อนหน้าถึง 4 เท่า แต่ยังเห็นว่า ศักยภาพจริงของพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา และพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยนํ้ามีมากกว่าที่บรรจุไว้ในแผนจึงน่าจะสามารถปรับตัวเลขให้สูงขึ้นได้อีก

ด้าน “นที​ สิทธิประศาสน์” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอแนะให้นำเรื่องสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงหรือ Direct PPA ที่จะจูงใจนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด 100% เข้ามาบรรจุไว้ในแผน AEDP​2024​ และเห็นว่ารัฐควรจะสนับสนุนศักยภาพของเชื้อเพลิงจากชีวมวลให้มากขึ้น โดยต่อสัญญาโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใกล้จะหมดอายุ เพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจฐานราก มากกว่าพลังงานที่ไม่มีเชื้อเพลิง (แสงอาทิตย์+ลม)

 ขณะที่ “อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า จุดยืน ส.อ.ท. ตามร่างแผนเออีดีพี 2024 ต้องส่งเสริมเอทานอลต่อไป โดยนํ้ามันพื้นฐานต้องเป็น อี 20 หรือนํ้ามันเบนซิน ที่มีส่วนผสมเอทานอล อัตราส่วน 20% ไม่ใช่อี 10 หรือนํ้ามันเบนซิน ที่มีส่วนผสมเอทานอล อัตราส่วน 10% ตามแผนเออีดีพีใหม่ ที่จะปรับลดจากอี 20 เหลืออี 10 โดยมองว่า กระบวนการจัดทำขาดความโปร่งใส จัดทำแบบเร่งรัด ไม่เป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคเกษตรกร ภาคการค้า, ทำลายศักยภาพของประเทศ ปิดเส้นทางการแข่งขัน ตัดระบบรายได้ของเกษตรกรมากกว่า 1.2 ล้านครัวเรือน เพิ่มโอกาสให้ต่างชาติกดราคาสินค้าเกษตร ทำลายโอกาสในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ลดความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมเอทานอล

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ขอเสนอให้สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรที่เป็นจุดแข็งของประเทศ พัฒนาประสิทธิภาพการเกษตรต้นนํ้า ลดต้นทุนการผลิต ลดการพึ่งพา สินค้าและพลังงานฟอสซิลจากต่างประเทศ สร้างรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังกว่า 170,000 ล้านบาทต่อปี กระจายรายได้สู่เกษตรกร 1.2 ล้านครัวเรือน, สร้างอำนาจต่อรองสินค้าเกษตร เป็นฮับมันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน ป้องกันการกดราคามันเส้นจากประเทศจีน

รวมทั้งลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ โดยการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ที่ผลิตเองในประเทศ เป็นนํ้ามันเบนซินพื้นฐาน ช่วยลดการนำเข้านํ้ามันดิบ 10,493 ล้านลิตรต่อปี รวมทั้งสร้างรายได้ต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรม 56,000 ล้านบาทต่อปี ในระยะเร่งด่วน ควรเปิดเสรีตลาดเอทานอลบริสุทธิ์ เพื่อให้อุตสาหกรรมเอทานอลเชื้อเพลิง ขยายไปสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูงที่สามารถทำได้ทันที เช่น อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ สารสกัดสมุนไพร เครื่องสำอาง อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

ส่วนประชาชนทั่วไปมองอย่างไร ยังสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ โดยลงทะเบียนและช่องทางออนไลน์ของ พพ. ได้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. นี้ หลังจากนี้ ทาง พพ. จะได้รวบรวมข้อเสนอแนะและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ จัดทำร่างแผน AEDP2024 และ EEP2024 ให้สมบูรณ์เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ความเห็นชอบต่อไป.