สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ว่าภาวะความดันโลหิตสูง เกิดขึ้นเมื่อความดันในหลอดเลือดของบุคคลนั้นสูงเกินไป อาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อหัวใจ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจล้มเหลว และโรคหัวใจ


การศึกษาดังกล่าวพบว่า 15% ของผู้เข้าร่วม 12,287 คน นอนกรนเฉลี่ยมากกว่า 20% ของช่วงเวลากลางคืน ตลอดระยะเวลาการติดตามผล 6 เดือน โดยผู้ที่มีอาการนอนกรนรุนแรงจะมีค่าแรงดันในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจบีบตัว 3.8 มิลลิเมตรปรอท และมีค่าแรงดันในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจคลายตัว 4.5 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งมากกว่าผู้เข้าร่วมที่ไม่มีอาการนอนกรน


การศึกษาครั้งนี้ใช้เทคโนโลยีหลายอย่าง เพื่อทำการติดตามที่บ้านตอนกลางคืนในระยะเวลานานเป็นครั้งแรก เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างการนอนกรน กับภาวะความดันโลหิตสูง โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาอยู่ในวัยกลางคน ซึ่ง 88% เป็นผู้ชาย


คณะแพทยศาสตร์และสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส เปิดเผยว่า การศึกษาดังกล่าวสามารถระบุได้ชัดเจนเป็นครั้งแรก ว่าการนอนกรนตอนกลางคืนเป็นประจำนั้น เชื่อมโยงกับภาวะความดันโลหิตสูงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งเน้นย้ำว่า การให้ความสำคัญกับการนอนกรนในฐานะปัจจัยเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ และการรักษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โดยเฉพาะในบริบทของการจัดการกับภาวะความดันโลหิตสูง.

ข้อมูล : XINHUA

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES