เมื่อไม่นานนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 4,614 ตัวอย่าง ครอบคลุมประชาชนทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคผลไม้ พบว่า ผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อผลไม้จากตลาดสด/ ตลาดนัด รถขายผลไม้ และซูเปอร์มาร์เก็ต ด้วยเหตุผลด้าน ความสะดวก และราคาถูก โดยจะซื้อผลไม้เป็นประจำทุกเดือนในเกือบทุกแหล่งขาย ด้วยวงเงินไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน โดยมีรายละเอีนดน่าสนใจ ดังนี้

แหล่งเลือกซื้อผลไม้

  1. เลือกซื้อผลไม้ที่ตลาดสด/ตลาดนัด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70.63 ของจำนวนผู้ตอบทั้งหมด  ส่วนใหญ่เป็นผู้อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป พนักงานของรัฐ ผู้มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน และผู้ที่อาศัยในภาคกลาง
  2. เลือกซื้อรถขายผลไม้ ร้อยละ 42.06 จะเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี นักศึกษา ผู้มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน และผู้ที่อาศัยในภาคใต้
  3. เลือกซื้อซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ร้อยละ 32.05  จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ ผู้มีรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน และผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ความถี่และค่าใช้จ่ายในการซื้อผลไม้

  • ความถี่ในการซื้อผลไม้ ในภาพรวม พบว่า ผู้ตอบซื้อผลไม้ประจำทุกเดือนแต่ไม่ทุกสัปดาห์ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 39.41 ตามด้วยการซื้อทุกสัปดาห์ ร้อยละ 38.40 ซื้อไม่ทุกเดือน ร้อยละ 15.74 และมีเพียงร้อยละ 6.45 ที่ซื้อผลไม้ทุกวัน
  • ค่าใช้จ่ายในการซื้อผลไม้ ผู้ตอบร้อยละ 41.20 จะซื้อผลไม้ในวงเงินระหว่าง 300 – 500 บาทต่อเดือน ตามด้วยวงเงินน้อยกว่า 300 บาทต่อเดือน ร้อยละ 39.51 ถัดมาคือ 501 – 1,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 15.69  

พฤติกรรมความนิยมผลไม้

ผลไม้ที่นิยมบริโภคประจำ ซึ่งได้รับความนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. แตงโม ร้อยละ 44.93
  2. ส้ม ร้อยละ 42.91
  3. กล้วย ร้อยละ 29.11  

ผลไม้ตามฤดูกาล ในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม ที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. ทุเรียน ร้อยละ 58.83
  2. เงาะ ร้อยละ 47.68
  3. มังคุด ร้อยละ 38.49