โรคงูสวัด” ภัยเงียบที่อาจกลายเป็นฝันร้ายสำหรับผู้สูงอายุ เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา-โซสเตอร์ (Varicella-Zoster Virus) ที่เคยทำให้เป็นโรคอีสุกอีใสและแอบซ่อนตัวอยู่ในร่างกายหลังจากหายจากอีสุกอีใสแล้ว ทำให้คนที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดได้ทุกคน เชื้อโรคนี้จึงเป็นเสมือนระเบิดเวลา รอจังหวะกลับมาสร้างปัญหาเมื่ออายุมากขึ้นที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำลง โดยเฉพาะเมื่ออายุเกิน 50 ปี

รศ. นพ.วินัย รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ เผยให้ฟังถึงภัยเงียบนี้ พร้อมวิธีป้องกัน และการดูแลตัวเองเมื่อป่วยเป็นโรคงูสวัด ผ่านงานเสวนา “Siriraj x Gen ยัง Active แพลตฟอร์มสุขภาพ สำหรับทุก Gen” ที่งาน “ศิริราช Expo 2024” เมื่อเร็ว ๆ นี้


ใครเสี่ยงต่อโรคงูสวัด?

  • อายุที่มากขึ้น ยิ่งอายุมาก ความเสี่ยงก็ยิ่งสูง
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากการเจ็บป่วย หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
  • ผู้ที่มีความเครียด พักผ่อนน้อย
  • ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด


สัญญาณเตือนภัยงูสวัด

  • อาการปวดแสบร้อนหรือรู้สึกเหมือนเข็มจิ้มบริเวณใดข้างหนึ่งของร่างกาย มักเกิดที่ใบหน้าหรือลำตัว
  • ผื่นขึ้นเป็นกลุ่มตุ่มใส ภายใน 1-5 วันหลังจากมีอาการปวด ตุ่มใสจะแตกและกลายเป็นสะเก็ด
  • อาการอื่นๆ เช่น ไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง


อันตรายแฝงของโรคงูสวัด

  • ปวดประสาทหลังเป็นงูสวัด จะปวดเรื้อรัง อาจกินเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี หลังจากผื่นหาย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • งูสวัดขึ้นที่ตา อาจทำให้สูญเสียการมองเห็น
  • งูสวัดขึ้นที่หู อาจทำให้สูญเสียการได้ยิน
  • งูสวัดขึ้นที่เยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง
  • งูสวัดขึ้นสมอง ทำให้สมองอักเสบ


ดูแลอย่างไรเมื่อป่วยเป็นงูสวัด

  • รับประทานยาต้านไวรัส เพื่อลดระยะเวลาป่วย และป้องกันภาวะแทรกซ้อน
  • ประคบเย็นบริเวณผื่น ช่วยบรรเทาอาการปวด
  • รับประทานยาลดอาการปวด เช่น พาราเซตามอล
  • งดการแกะเกาตุ่มและผื่น ป้องกันการติดเชื้อ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟู


การป้องกัน

สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนงูสวัดชนิดใหม่ คือ วัคซีน Recombinant Zoster เป็นวัคซีนแบบเชื้อตาย ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ แนะนำฉีดในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อายุ 18 ปี หรือมากกว่า รวมทั้งกลุ่มคนที่มีเงื่อนไขต่างๆ เช่น เคยเป็นงูสวัดมาก่อน มีปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะไตวายเรื้อรัง เบาหวาน โรครูมาตอยด์ และโรคข้ออักเสบหรือโรคปอดเรื้อรัง ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกันขนาดต่ำ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง และผู้ที่ได้ รับวัคซีนอื่นๆ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่และปอดบวม

โดยฉีด 2 เข็มในระยะเวลา 2 เดือน จากผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ สามารถป้องกันได้สูงถึง 90% ในช่วง 4 ปี และการศึกษาติดตามผลระยะยาว 8-10 ปี สามารถป้องกันได้ถึง 89%


เคล็ดลับสำหรับผู้สูงอายุ

  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
  • จัดการความเครียด หาเวลาผ่อนคลาย ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ

ผู้สูงอายุหรือผู้ดูแลควรหมั่นตรวจเช็คสุขภาพและอาการต่างๆ ให้กับผู้ใหญ่ในบ้านอย่างสม่ำเสมอ พร้อมปรึกษาแพทย์ให้ได้รับวัคซีนป้องกันตามความเหมาะสม เมื่อสงสัยว่ามีอาการของงูสวัด ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที