นอกจากประเด็นฟ้องหย่า ฟ้องชู้ที่ปรากฎข่าวหลายครั้งทั้งกรณีคนดัง และชาวบ้านทั่วไปที่การเลิกรากลายเป็นปัญหาให้ต้องต่อสู้ สัปดาห์ที่ผ่านมีอีกความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับการ “ฟ้องชู้” ซึ่งจะสอดคล้องกับกฎหมาย“สมรสเท่าเทียม”ในอนาคต

“ทีมข่าวอาชญากรรม”ชวนคลายสงสัยทิศทางฟ้องชู้จะเปลี่ยนไปอย่างไรกับผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม โดยนายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองโฆษกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ อธิบายว่า กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ป.พ.พ.) มาตรา 1523 วรรคสอง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ซึ่งกําหนดว่าชายหญิงต้องมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน หรือไม่ว่าเพศหรืออะไรต่างๆจะมาเป็นข้อขวางกั้นความเท่าเทียมกันไม่ได้

ดังนั้น กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินระบุว่าป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า สามีจะเรียกค่าทดแทนจาก“ผู้ซึ่ง”ล่วงเกินภรรยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภรรยาเรียกค่าทดแทนจาก“หญิง”อื่นที่แสดงตนเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้ ตามกฎหมายดังกล่าวฝ่ายชายจะสามารถฟ้องชู้ เรียกค่าเสียหายของฝ่ายหญิงได้ทุกเพศ เพราะระบุแค่“ผู้ซึ่ง” กลับกันฝั่งฝ่ายหญิงฟ้องชู้เรียกค่าเสียหายได้แค่“เพศหญิง”เท่านั้น

ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตีความว่า“ผู้ซึ่ง”ล่วงเกิน ทําให้ฝ่ายชายมีสิทธิจะฟ้องผู้ที่มาล่วงเกินภรรยาได้“มากกว่า” แต่เวลาฝ่ายหญิงจะฟ้องฝ่ายชายกลับฟ้องได้เฉพาะหญิงอื่น “หากฝ่ายชายไปมีความสัมพันธ์กับชายอื่น หรือ กลุ่มLGBTQ ปรากฏว่าฝ่ายหญิงฟ้องไม่ได้ จะไปเรียกร้องค่าทดแทนไม่ได้ จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องความเท่าเทียม” ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่าต่อไปจะฟ้องชู้ไม่ได้อีก แต่อนาคตอาจจะปรับแก้กฎหมายคำเรียก จากสามี-ภรรยา เป็นคู่สมรสแทน และไม่ระบุเพศ เจาะจงเพศกับกรณีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากชู้ต่อไป

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) อธิบายว่า ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์เห็นพ้องต้องกันไม่ใช่เป็นการ“ยกเลิก”กฎหมาย“ฟ้องชู้”ที่ผู้ร้องได้ขอให้ศาลวินิจฉัย เรื่องสิทธิในการฟ้องชู้ของภรรยา“น้อยกว่า”ของสามี ทั้งนี้ หากย้อนดูป.พ.พ. มาตรา 1523 ระบุว่า สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ล่วงเกินภรรยาไปในทํานองชู้สาวก็ได้

จุดที่ใช้คําว่า“ผู้ล่วงเกิน”ภรรยา แปลว่า สามีจะฟ้องผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ที่ล่วงเกินเชิงชู้สาว แต่หากภรรยาจะฟ้องกลับสามีบ้าง จะเรียกค่าทดแทนจาก“หญิง”อื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย กลายเป็นฟ้องได้เฉพาะ“เพศหญิง” ซึ่งมาแสดงตน“โดยเปิดเผย”ว่ามีความสัมพันธ์ในทํานองชู้สาว หากสังเกตจะเห็นว่าสามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ล่วงเกินภรรยาไปทํานองชู้สาว แบบไม่ต้องเปิดเผยก็เรียกได้แล้ว

ดังนั้น จึงเป็นประเด็นว่า มาตรา 1523 ทําให้สิทธิหญิงชายไม่เท่าเทียมกัน เพราะสิทธิในการฟ้องชู้ของฝ่ายภรรยา“เสียเปรียบ”กว่า จึงขัดแย้งกับหลักการรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม ที่ระบุว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายมีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

“อย่าลืมว่ากฎหมายแพ่งฯดังกล่าว เริ่มร่างครั้งแรกใน ร.ศ.127 ตรงกับ พ.ศ.2451 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีผลใช้บังคับครั้งแรก พ.ศ.2468 จวบจนถึงบัดนี้ เมื่อกระแสสังคมโลกเปลี่ยน กฎหมายเป็นกติกาให้สังคมอยู่ร่วมกัน บริบทของความยุติธรรมวันนี้จึงต้องเปลี่ยนด้วย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผู้หญิงผู้ชาย หรือLGBTQ ต้องเท่าเทียมกัน ไม่มีใครด้อยกว่ากันและกฎหมายคุ้มครองทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียม”

ขณะที่ประเทศไทยมีการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง จนล่าสุดเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีสถานะสูงกว่าพระราชบัญญัติ ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้ จากนี้สภานิติบัญญัติก็ต้องยกขึ้นมาพิจารณา เพราะปกติการแก้กฎหมายหน้าที่หลักคือรัฐสภา หรือหน่วยงานที่มาร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็สามารถนําคําตัดสินส่งให้สภาพิจารณาดําเนินการแก้ไขกฎหมายให้ถูกต้องและนําประกาศใช้กันต่อไปภายในกำหนด 360วัน ซึ่งขณะนี้เองมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉะนั้นกฎหมายนี้ก็จะคุ้มครองทุกคนให้เท่าเทียมกัน

อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิฯ ระบุว่า ในอดีตก็เคยมีการแก้กฎหมายเรื่องข่มขืน โดยฉบับเก่าระบุว่า ผู้ใดข่มขืนหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาตน ก็แปลว่าถ้าข่มขืนภรรยาตัวเองก็ไม่ผิดหรือ แล้วถ้าผู้หญิงข่มขืนผู้ชายก็ไม่ใช่การข่มขืนใช่ไหม จนวันนึงเราได้พัฒนากฎหมายแก้ว่า ผู้ใดข่มขืนผู้อื่น ดังนี้กฎหมายได้คุ้มครองว่าแม้แต่ภรรยาตัวเองก็แตะไม่ได้ ถ้าอีกฝ่ายไม่ยินยอม คําว่า ผู้อื่นคือชายจะข่มขืนหญิงหรือหญิงจะข่มขืนชาย หรือชายจะข่มขืนกันเอง ถ้ามีคําว่าข่มขืน กฎหมายใช้ได้ บทบัญญัติที่กฎหมายฟ้องชู้ก็เลยจะต้องพัฒนาแก้ไขกันไป

“ตอนนี้กฎหมายฟ้องชู้ยังใช้ได้ แต่ว่าอาจต้องปรับเปลี่ยนภายหลังให้ฟ้องได้เท่าเทียมมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนคนใดยังกังวลและไม่เข้าใจกฎหมาย สามารถเดินเข้าหา สคช.ทั่วประเทศ เพื่อปรึกษาหรือโทรสายด่วน 1157 ในเวลาราชการ เพราะนอกจากให้คำปรึกษายังสามารถช่วยเหลือดำเนินการด้วย

ยกตัวอย่าง มีเคสผู้หญิงที่ถูกผู้ชายทําร้ายแต่ไม่ได้ถึงขั้นฟ้องหย่า แต่ทนไม่ไหวแล้วมาหา สคช. ต่อมาอัยการก็ยื่นคําร้องต่อศาลไต่สวนฉุกเฉินทันที และศาลมีคําสั่งให้คุ้มครองสวัสดิภาพ ห้ามผู้ชายทําร้ายผู้หญิงและเข้าใกล้เกิน 200 เมตร เป็นเวลา 6 เดือน หากผู้ชายไม่ทําตามจะมีการยื่นคําร้องต่อศาล และศาลอาจจะสั่งให้นำผู้ชายมาขังไว้ เพื่อให้ปฏิบัติตามคําสั่งศาล.