เมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 22 มิ.ย. นางวิลาวัณย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 66 ปี พร้อมบุตรชาย คือ นายกัน อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะวิศวะปี 3 มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ย่านถนนวิภาวดี กรุงเทพ นำหลักฐานเอกสารต่างๆรวมทั้งสมุดบัญชีเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี หลังนายกัน ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้มุกเดิมอุบายเดิมหลอกให้โอนเงิน จำนวน 11,000 บาท โดยอ้างว่านายกัน มีการทำธุรกรรมการเงินพัวพันกับแก๊งสีเทาให้โอนเงินไปให้ตรวจสอบมิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ผู้เสียหายเองรู้สึกกลัวจึงได้ทำตามที่แก๊งมิจฉาชีพบอกและสูญเงินไปดังกล่าว

นายกัน เล่าด้วยเสียงอันสั่นเครือน้ำตาคลอ ว่า ก่อนมาแจ้งความ มิจฉาชีพได้โทรเข้ามาหาตนอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ AIS บอกว่าตนไปเปิดเบอร์ที่ศูนย์ AIS โรบินสัน ราชบุรี และมีหัวหน้านิติกร AIS สำนักงานใหญ่ฯ ชื่อ นส.รัชนีกร ลาสาคู โดย น.ส.รัชนีกร แนะนำตนว่าให้ไปแจ้งความที่ สภ.ที่เกิดเหตุ คือ สภ.เมืองราชบุรี ไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นก็โอนสายตนไป สภ.เมืองราชบุรี ให้เจ้าหน้าที่ชื่อ ร.ต.อ.หญิง ปนัดดา รับสายและบอกตนไปแอบอ้างเปิดซิมโทรศัพท์ระบบเติมเงิน ร.ต.อ.หญิง จึงบอก ID Line ที่แอบอ้างว่าเป็น สภ.เมืองราชบุรี ให้กับตนๆ จึงกดเข้าไปแล้ว จากนั้น ร.ต.อ.หญิง ก็โอนสายตนให้ตำรวจชายอีกคน ยศ ร.ต.อ. โดยการเปิดกล้องวิดิโอคอลกับตำรวจรายนี้ เขาใส่เครื่องแบบตำรวจ ใส่แว่น ใส่แมสก์ นั่งบนเก้าอี้ ฉากหลัง เป็นโลโก้ของตำรวจ ตนจึงเชื่อว่าเขาเป็นตำรวจจริง

จากนั้นเขาก็ถามข้อมูลจากตนตามปกติ เช่น นำเลขบัตรประชาชนไปเผยแพร่ให้ใครหรือเปล่าฯ พอถามเสร็จ ก็ส่งเรื่องของตนให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นฝ่ายตรวจสอบ โดยฝ่ายตรวจสอบพบว่าตนไปมีส่วนกับคดีฟอกเงิน ของ นายกำพล มั่งมี ซึ่งถูกจับกุมแล้ว และตรวจสอบพบสมุดบัญชีธนาคารที่เป็นชื่อของตนเป็นบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาบางกรวย เขาก็ส่งรูปสมุดบัญชีมาทางไลน์ให้ ตนบอกว่าไม่เคยเห็นมาก่อน และไม่เคยไปเปิดบัญชีที่ธนาคารกรุงไทยสาขาบางกรวย เลย และเขาก็ถามอีกว่ารู้จัก นายกำพล มั่งมี หรือไม่ ซึ่งตนบอกไปว่าไม่เคยเจอไม่เคยรู้จัก ที่สำคัญไม่เคยขายสมุดบัญชีให้นายคนนี้เลย โดยตำรวจเขาก็ดูพูดเหมือนว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ เขาบอกตำรวจไม่ปักใจเชื่อในคำให้การของนายกำพล แล้วตำรวจก็ให้ตนหยิบกระดาษ A4 แล้วเขียนเป็นใบแจ้งความ ลงวันที่ และถ่ายรูปบัตรประชาชนของตนกับคุณแม่ ถ่ายส่งให้เขาทางไลน์ของ สภ.เมืองราชบุรี

จากนั้นตำรวจชายก็โอนสายให้ ร.ต.อ.หญิง วีดิโอคอล โดยต้องเห็นตนกับคุณแม่ จะมีการบันทึกเสียงตลอด เพื่อสอบปากคำ ซึ่งตนได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เมื่อสอบปากคำเสร็จ ร.ต.อ.หญิง ได้บอกสคริปให้ตนและพูดกับคนที่อ้างว่าเป็น ผกก.สภ.เมืองราชบุรี ตามสคริป โดยเขาก็ให้ตนกับแม่ดูสมุดบัญชีธนาคารของตนเองและบอกยอดเงินคงเหลือของทุกบัญชีให้เขาทราบ และอยากรู้จำนวนเงินสดที่ตนกับคุณแม่มีอยู่ในตอนนี้มีเท่าไหร่

ต่อมาเขาก็ส่งหมายศาลปลอมเป็นหมายจากตำรวจส่งมาทางไลน์ ให้ตนดูและพยายามบอกว่าให้เราเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ตนจึงโอนเงินให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีอยู่ในบัญชี 11,000 บาท เป็นเงินที่ตนสะสมมาเกือบปี ใช้ด้วยความมัธยัสถ์เพราะคุณพ่อคุณแม่ให้มาวันละ 100 บาท มีเงินเก็บอยู่เท่านี้ จึงโอนให้มิจฉาชีพไป หลังจากนั้นเขายังบอกให้ตนโอนเงินจากบัญชีของคุณแม่อีก 19,000 บาทให้เขา ในเบื้องต้นรวมเป็นเงิน 30,000 บาท ทางคุณแม่เอะใจ จึงได้ปรึกษากับญาติๆ และเชื่อแน่ว่าถูกมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง จึงได้เดินทางมาแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอให้ช่วยติดตามเงินที่ถูกหลอกไปในครั้งนี้ด้วย ตนเคยเห็นแต่ข่าวในทำนองนี้แต่ไม่คิดว่าจะเจอกับตัวเอง มิจฉาชีพพูดจาน่าเชื่อถือทำกันเป็นขบวนการ “ก็อยากฝากบอกเขาว่าอย่าไปทำแบบนี้กับใครเลยเงินทุกบาททุกสตางค์กว่าทุกคนจะหามาได้มันลำบากมาก”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงเพียงไม่ถึง 1 เดือน มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้ใช้อุบายมุกเดิมแบบเดิมแอบอ้างกับเหยื่อว่าไปพัวพันกับธุรกิจสีเทา ก่อนจะใช้วิธี Video Call ใส่ชุดตำรวจหลอกเหยื่อจนตายใจเกิดความกลัวกลัวและหลงเชื่อจนต้องโอนเงินให้ โดยก่อนหน้านี้ก็หลอกเงินจากคุณตาวัย 81 ปี ไปแล้ว 22 ล้านบาท จากนั้นก็มีผู้เสียหายเป็นสาวสวยทำงานแอร์โฮสเตสสายการบินชื่อดังสูญเงินไปอีก 200,000 บาท จนกระทั่งในแต่ละวันมีเหยื่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ถูกหลอกลวง ในทำนองนี้มาแจ้งความที่โรงพักในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี วันๆ นึงนับสิบๆ ราย จนกระทั่งล่าสุดนายกัน นักศึกษาหนุ่ม คณะวิศวกรรม ปี 3 มหาวิทยาลัยชื่อดังก็ตกเป็นเหยื่อรายล่าสุด.