เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนโยบายสถานศึกษาปลอดภัยว่า ขณะนี้ได้เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 มาได้กว่า  2 เดือนแล้ว ซึ่งมิติหลังเปิดภาคเรียนใหม่นั้นเป็นเรื่องปกติของความปลอดภัยที่เราจะต้องปรับแนวทางการแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา แต่สถานการณ์ภาพรวมของสถานศึกษาปลอดภัยและการจัดทำแผนเผชิญเหตุของสถานศึกษาแต่ละแห่งรวมถึงการป้องกันภัยคุกคามต่างๆที่เกิดขึ้นกับนักเรียนนั้นถือว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นการวางแนวทางแก้ปัญหาอย่างถูกทิศทาง โดยเฉพาะปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วางแผนการสื่อสารเรื่องโทษภัยและกฎหมายควบคุมตั้งแต่ก่อนเปิดภาคเรียน เนื่องจากพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. และว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการกพฐ.กำชับและให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างมาก

“หลังจากเราเปิดโครงการโรงเรียนกรุงเทพมหานครปลอดภัยพบว่า สามารถบริหารจัดการการควบคุมพื้นที่จุดเสี่ยงก่อเหตุของนักเรียนได้ดี มีการสุ่มเช็คจากโรงเรียนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ และมีการระงับเหตุล่วงหน้าได้หลายกรณีทำให้ควบคุมสถานการณ์อันตรายที่จะเกิดกับนักเรียนได้ทัน อย่างไรก็ตามการเฝ้าระวังความปลอดภัยของนักเรียนจะเดินหน้าต่อในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเป็นการวางแนวทางลดจุดเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเส้นทางถนนหน้าโรงเรียนและรถรับส่งนักเรียน ซึ่งอาจจะปรับการวางระบบช่วยเหลือใหม่ด้วยการนำลูกเสือจราจรมาดูแลบริเวณหน้าโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการทำเครื่องหมายป้ายแจ้งเตือนกำกับไว้” นายธีร์ กล่าว

รองเลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องบูลี่ในสถานศึกษานั้น สพฐ.มองว่าเราอยากมุ่งเป้ากับกลุ่มนักเรียนที่มีปัญหาฆ่าตัวตายว่าปมสาเหตุที่แท้จริงมาจากปัญหาอะไร เพราะปัญหาบูลี่ก็ส่วนหนึ่งและปัญหาจากครอบครัวก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งร่วมด้วย ดังนั้นเราจะต้องวางแนวทางหยุดความคิดการฆ่าตัวตายของเด็กนักเรียนให้ได้ โดยเร็วๆนี้จะหารือกับกรมสุขภาพจิตและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อปรับแผนเผชิญเหตุการฆ่าตัวตายของกลุ่มเด็กและเยาวชนด้วยการนำองค์ความรู้จากสถาบันนี้มาต่อยอดทักษะปั้นครูในโรงเรียนให้ทำหน้าที่เป็นครูพยาบาลที่มีความรู้ของหลักการแผนเผชิญเหตุกับสถานการณ์ความรุนแรงต่างๆที่เกิดขึ้นกับนักเรียน โดยครูทุกคนไม่จำเป็นจะต้องจบพยาบบาลแต่ครูสามารถมีความรู้เรื่องหลักการช่วยเหลือนักเรียนในเบื้องต้นได้