เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 22 มิ.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คุยกับเศรษฐา” ซึ่งวันนี้เป็นการออกอากาศครั้งแรก ทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่เวลา 08.00-08.30 น. โดยนายกฯ กล่าวถึงการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งมีคนบอกว่าเดินทางไปเยอะมาก ไปเพื่ออะไร ว่า ไม่ได้แก้ตัว แต่ว่าเรื่องของการไปต่างประเทศ จริงๆ แล้วตนเองไปมา 15 ครั้ง กว่าครึ่งเป็นไฟต์บังคับ เป็นเรื่องของการไปอาเซียน-เจแปน การไปแนะนำตัว ไปจีน หรือว่าไปกัมพูชา ไปสิงคโปร์ ไปมาเลเซีย ไปออสเตรเลีย เป็นอาเซียน-เจแปนครบ 50 ปี ซึ่งจะไม่ไปนั้นไม่ได้ หรืออย่างไปศรีลังกา เซ็นสัญญา FTA ซึ่งรัฐบาลเดิมทำไว้แล้ว ก็ไปเป็นเกียรติ ไปงานลงนาม ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

นายเศรษฐา กล่าวว่า ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าในรัฐบาลก่อน เรื่องของลำดับความสำคัญของเขา เขาอาจจะทำเรื่องอื่นที่เขาเห็นความสำคัญมากกว่า แต่ตอนนี้มาถึงตรงนี้ เรื่องการค้าระหว่างประเทศ เรื่องของความอ่อนบางทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้การลงทุนข้ามชาติมาที่ประเทศไทยเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าเราไม่ไปเชื้อเชิญและไปบอกเขาว่าประเทศไทยเปิดแล้ว ไม่มีเวลาไหนที่จะดีเท่าเวลานี้ที่มาลงทุนที่ประเทศไทย เขาจะทราบไหม ตนเองว่าต้องไป แล้วการลงทุนกลับมาแต่ละครั้งเป็นหมื่นล้านเป็นแสนล้าน ซึ่งแน่นอนว่ายังไม่เกิดขึ้น อาจจะอยู่ขั้นตอนการพิจารณา บางอันก็จะเกิด บางอันเกิดแน่ ๆ บางอันก็ไม่แน่ว่าจะเกิด หรือบางอันก็ไม่เกิดก็มี แต่ว่าการทำงาน เราต้องทำทั้งหมดทุกประเทศ เราต้องไปทุกบริษัทที่เขามีศักยภาพมาลงทุนในประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่ของตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรี

นายกฯ กล่าวต่อว่า การประชุมกับผู้นำและภาคเอกชนเวลาไปเมืองนอก ต้องใช้เวลาให้คุ้มค่า เข้าใจว่าประวัติสูงสุดในประวัติศาสตร์คือที่ดาวอส ซึ่งจะมี 19 หรือ 23 วงในวันเดียว ถือว่าเยอะมาก แต่ตนเองก็ยังบอกกับทีมว่า ถ้าไปปีหน้า ถ้ามีห้องประจำของเราเองสองห้อง แล้วก็สลับเข้าสลับออก ตนเองว่า 30 วงน่าจะทำได้ ทั้งนี้ 12 ปีที่ผ่านมา ไม่มีผู้นำของเราไป World Economic Forum มาเลย พอเราไป คนก็ให้ความสนใจ อย่างที่ไปมาก็ AstraZeneca บริษัททำยา ซึ่งเข้าหุ้นกับปูนซิเมนต์ไทย สำหรับผลการไปต่างประเทศ โดยรวมแล้วเป็นบวกมาก เพราะได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ประเทศไทยเหมาะสมสำหรับการลงทุน บางเรื่องได้รับการประสานงานร่วมกันระหว่างผู้แทนการค้าไทย บีโอไอ และหลาย ๆ หน่วยงาน รวมถึงสถานทูตไทยได้เชิญชวนกันไปโฆษณาว่าประเทศไทยมีอะไรดี ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด เราพร้อม Incentive จากบีโอไอ เรามีเหนือกว่าประเทศอื่น เรามีรอยยิ้ม เรามีค่าครองชีพที่เหมาะสม เรามีโรงเรียนนานาชาติที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เรามีระบบบริการสุขภาพ ที่มีมาตรฐานสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศ นักลงทุนจากต่างประเทศที่เขาจะย้ายถิ่นฐานมา เขามีความมั่นใจ เรื่องของการที่เรามีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเยอะ ทำให้เขาเมื่อมาลงทุนแล้ว เขามั่นใจว่าที่นี่มั่นคง

นายกฯ กล่าวถึงจุดยืนการทูตของไทยว่า เราไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับประเทศไหน ที่ตนเองเดินทางไปต่างประเทศ มาจากการลงทุน จาก EU หรือจากออสเตรเลีย หรือจากจีน หรือจากสหรัฐอเมริกา ทุกประเทศอยากมาลงทุนประเทศไทย ถึงแม้จะมีคู่ขัดแย้งกันเองก็ตามที เพราะเขามั่นใจว่าประเทศไทย จะให้ความเป็นธรรมกับทุก ๆ ฝ่าย ถ้าเกิดมีปัญหาเกิดขึ้น ฐานผลิตของเขา ซัพพลายเชนของเขาไม่ถูกขัด อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะฉะนั้นทุกคนก็ให้ความมั่นใจกับประเทศไทย เพราะฉะนั้นก็เป็นที่มาที่ไปทำไมเราจึงอยากเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) ขยายสนามบินสุวรรณภูมิจาก 60 ล้านคน กลายเป็น 150 ล้านคน สร้างเทอร์มินัล สร้างรันเวย์เพิ่ม แลนด์บริดจ์ทำไมเราจึงอยากมีแลนด์บริดจ์ในการขนส่ง ไม่ใช่แค่ประหยัดระยะทางที่ลงไปช่องแคบมะละกาอย่างเดียว หรือประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างเดียว ในอนาคตถ้าเกิดมีคู่ขัดแย้งเยอะ แล้วประเทศที่ควบคุมโลจิสติกส์การเดินทางทั้งหลาย ไม่เป็นกลาง ใครทะเลาะกับใคร ใครจะเข้าข้างใคร ก็ทำให้เส้นทางการขนถ่ายสินค้าเขามีปัญหา แต่ถ้าเกิดว่าเราเป็นประเทศเป็นกลาง อย่างไรเสียเขามั่นใจว่าการดูแลการขนถ่ายสินค้าของทุก ๆ ประเทศ จะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม ตนเองเชื่อว่าการตัดสินใจมาลงทุนของเขา ก็จะมีความเป็นไปได้สูงขึ้น

นายกฯ กล่าวอีกว่า การเดินทางไปต่างประเทศ ไปเพื่อแนะนำตนเอง และที่สำคัญคือนำมาซึ่งความมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย จากการลงทุนที่ต่างชาติเขาจะมาขยายการลงทุนที่ประเทศไทย แต่ว่าทุก ๆ อย่างใช้เวลา อย่างเช่น เราจะเคลื่อนจากอุตสาหกรรมที่มีกำไรน้อย ไปสู่อุตสาหกรรมกำไรสูงเทคโนโลยีต่ำ เป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง ไม่ได้สร้างได้ภายในวันเดียว ต้องมีวิธีการหลาย ๆ อย่าง เช่น การตัดสินใจในการซื้อ พื้นที่ งบลงทุน อะไรต่าง ๆ นานา ตนเองเชื่อว่ามีอะไรต้องทำควบคู่กันไป โดยเร็ว ๆ นี้ จะประชุมกับ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เรื่องของการที่เราจะต้องยกระดับชุดทักษะของแรงงานไทย เรื่องของการที่สถาบันอุดมศึกษาของไทย มีการตระเตรียมร่วมกับกับบริษัทยักษ์ใหญ่ มีการฝึกอบรมแทนที่จะเทรนกันแค่สามเดือน เขาขอร้องให้ อว. ออกมาเลย เทรนมาเลยเก้าเดือน ปีหนึ่ง แล้วก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรด้วย เวลาจบไปก็จะได้ทำงานต่อได้เลย ทีนี้ก็พยายามพูดคุยกันต่อ มีเรื่องของรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราต้องคุยกันเยอะ.