สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ว่ากระทรวงการคลังสหรัฐออกแถลงการณ์ เพิ่มญี่ปุ่นเข้าสู่บัญชีรายชื่อ ประเทศและดินแดนคู่ค้ารายใหญ่ ที่ตลาดปริวรรตเงินตรา “ต้องได้รับการจับตาอย่างใกล้ชิด” ร่วมกับอีกหลายประเทศและดินแดน รวมถึง จีน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ เยอรมนี และไต้หวัน


ทั้งนี้ รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า การดำเนินนโยบายของญี่ปุ่นเข้าเกณฑ์อย่างน้อย 2 จากทั้งหมด 3 ข้อ คือ มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐอย่างน้อย 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 550,057.50 ล้านบาท) ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา และมีการเกินดุลของบัญชีเดินสะพัด “อย่างมีนัยสำคัญ” แต่ยังไม่เข้าข่าย การซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิฝ่ายเดียว ที่คิดเป็นสัดส่วนอย่างน้อย 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในรอบ 12 เดือนล่าสุด


อนึ่ง กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเผยแพร่รายงานเมื่อต้นเดือนนี้ ว่ามีการใช้งบประมาณ 9.79 ล้านล้านเยน (เกือบ 2.3 ล้านล้านบาท) เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินเยน ระหว่างวันที่ 26 เม.ย. ถึงวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา


ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนอยู่ที่ประมาณ 115 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงก่อนสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนปะทุ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 แต่หลังจากนั้นอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีทั้งสงครามในยูเครน และสงครามในฉนวนกาซา หลายฝ่ายมองว่า การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบต่อเนื่องเป็นเวลานาน คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ


ขณะที่เงินเยนอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2533 เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา แต่หลังจากนั้นกลับมาแข็งค่ามากกว่า 3% และการแทรกแซงค่าเงินของรัฐบาลญี่ปุ่นในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 ซึ่งตอนนั้นกระทรวงการคลังทุ่มงบประมาณมากถึง 6.3 ล้านล้านเยน (ราว 1.45 ล้านล้านบาท).

เครดิตภาพ : AFP