เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ในวาระแรก

น.ส.ตวงทิพย์ จินตะเวช  สส.อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายตอนหนึ่งว่า สิ่งที่สําคัญต่อการพัฒนาประเทศคือการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาของเด็ก ถือเป็นหัวใจหลักและเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการพัฒนาประเทศ ซึ่งหากรัฐบาลไม่ให้ความสําคัญกับการศึกษาที่เสมอภาคและไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาได้ ประเทศคงยากที่จะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ในปีนี้กระทรวงศึกษาธิการได้รับการจัดสรรงบประมาณ 340,000 ล้านบาทเศษ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ซึ่งถือว่าไม่มาก ในจุดนี้ต้องขอชื่นชมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ได้เล็งเห็นถึงความสําคัญของการศึกษา เพราะกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงหลักที่ดูแลอนาคตลูกหลานและกําลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคงและทัดเทียมนานาประเทศได้

น.ส.ตวงทิพย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันยังขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งเป็นหนึ่งในโจทย์สําคัญ สําหรับการยกระดับระบบการศึกษาของไทย เช่น โรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 14,000 แห่ง หรือคิดเป็น ร้อยละ 51 ของโรงเรียนในสังกัดทั้งหมด พบว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีปัญหาการขาดแคลนครูสูงที่สุด ครูหนึ่งคนดูแลมากกว่าหนึ่งห้องเรียน หรือบางโรงเรียนคุณครูหนึ่งคนดูแลทั้งโรงเรียน และสอนมากกว่าหนึ่งวิชา นอกจากนี้ยังพบปัญหาการจัดสรรครูไม่ตรงสายที่จบมา จากข้อมูลของ สพฐ. มีครูภาษาไทยจบไม่ตรงสายมากถึง 6,726 คน การเพิ่มครูให้เพียงพอจึงควรทำควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพด้วย 

น.ส.ตวงทิพย์ กล่าวว่า ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการเล็งเห็นว่าปัญหาการขาดแคลนครูคือหนึ่งในปัญหาหลักจึงออกนโยบาย เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ เน้นให้ผู้เรียน “เรียนดีมีความสุข” และยังมีนโยบายพลิกโฉมการศึกษาไทย เรียนรู้เท่าเทียมทักษะเท่าทัน สร้างแพลตฟอร์มเรียนรู้ทั่วถึงเท่าเทียม ทุกที่ทุกเวลา เรียนผ่านวิดีโอ บทเรียนออนไลน์ ซึ่งตั้งใจที่จะลดช่องว่างของเด็กนักเรียนทั้งในเมืองและในชนบท สามารถเข้าถึงบทเรียนที่มีคุณภาพและทันสมัยจากผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยตรง ได้อย่างสะดวกและไร้ข้อจํากัดอย่างเท่าเทียมกัน

น.ส.ตวงทิพย์ กล่าวอีกว่า สําหรับงบประมาณปี 2568 ของกระทรวงศึกษาธิการ น่าเสียดายที่งบประมาณในส่วนของการทําคอนเทนต์หรือเนื้อหาการเรียนการสอน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสําคัญที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนครูลดความเหลื่อมล้ำถูกตัดงบไปถึง 1 ใน 3 ของงบประมาณที่ขอไป ตอนนี้มีแพลตฟอร์มแล้วแต่ขาดสื่อการเรียนการสอน เหมือนเรามีบ้านแต่ขาดเฟอร์นิเจอร์ แล้วการศึกษาอย่างเท่าเทียมจะสมบูรณ์แบบได้อย่างไร ถ้าเราได้รับงบประมาณอย่างไม่เพียงพอ ทั้งนี้หวังว่ารัฐบาลจะนํางบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาในครั้งนี้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป.