เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ที่ได้จัดทำขึ้นมาทำให้ประเทศไทยมีการทำลายสถิติใหม่ทางการคลังหลายตัวด้วยกัน ซึ่งนอกจากรายจ่ายเงินลงทุนที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปีแล้ว การตั้งงบขาดดุลต่อจีดีพีหรือการกู้ขาดดุลก็สูงที่สุดในรอบ 36 ปีเช่นเดียวกัน ดอกเบี้ยต่อรายได้หรืองบที่ตั้งไว้เพื่อชำระดอกเบี้ย เมื่อเทียบกับประมาณการรายได้ของรัฐบาลก็สูงที่สุดในรอบ 14 ปี  ส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาซึ่งตนสืบข้อมูลย้อนหลังไปได้เพียงแค่ 29 ปี  แต่ก็ยังมีด้านดีๆ ก็คือสัดส่วนของการชำระคืนเงินต้นของรัฐบาลก็สูงที่สุดในรอบ 31 ปี ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งด้านดีและไม่ดีด้วย

น.ส.ศิรกัญญา กล่าวว่า ตัวชี้วัดแรกงบประมาณปี 68 เป็นการตั้งเงินเพื่อกู้ชดเชยการขาดดุลงบต่อจีดีพีที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ มันก็คือการที่เราจะต้องกู้เพื่อมาใช้จ่ายในแต่ละปี เมื่อมาเทียบดูกับจีดีพีนั่นก็คือความสามารถในการหารายได้ ซึ่งหลายประเทศที่มีปัญหาการคลังเรื้อรัง เขามีการกำหนดไว้ในกฎหมายด้วยซ้ำว่าจะไม่กู้ชดเชยขาดดุลเกิน 3 % ของจีดีพี แต่สำหรับของประเทศไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 4.5 % ของจีดีพี และไม่พอย้อนกลับไปกู้ใหม่ในปี 67 เพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็จะทำให้งบขาดดุลต่อจีดีพีสูงถึง 4.3 % เท่ากับ 2 ปีแล้วที่เราจะกู้เพื่อชดเชยรายจ่ายที่น้อยกว่ารายได้ของเราสูงเกิน 4 % ซึ่งในการวางแผนงบประมาณในปีปกติ ที่ไม่ใช่เป็นปีวิกฤตเศรษฐกิจเราไม่เคยกู้มากมายขนาดนี้มาก่อน เพื่อชดเชยการขาดดุลและรัฐบาลเองก็ดูเหมือนจะเริ่มเสพติดการขาดดุลแล้ว เพราะว่าเป็นการกู้เต็มเพดานทุกๆ ปี ตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา เรากู้ในระดับประมาณ 50-80 % แต่พอปีหลังๆ ในช่วงวิกฤตโควิดถ้าจะกู้เต็ม 100 % ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่สำหรับปี 67-68 ก็ยังกู้ขึ้นไปถึง 99 เปอร์เซ็นต์ของเพดานที่ให้กู้ได้ โชคดีที่ยังมีเพดานนี้อยู่ ไม่เช่นนั้นก็อาจจะทะลุไปถึง 5 หรือ 10 % ของจีดีพีก็เป็นไปได้

“ปัญหาก็คือพอเราใช้จ่ายเงินเกินตัวหรือหาเงินไม่ทัน มันจะทำให้ชีวิตเรามันเสี่ยง แต่รอบนี้ไม่ได้เสี่ยงแค่คนๆ เดียวเพราะว่ารัฐบาลนี้ที่ใช้เงินมือเติบแบบนี้ท่านกำลังพาประเทศไปเสี่ยงด้วย การกู้จนเต็มเพดานแบบนี้ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ไม่คาดฝันเกิดขึ้น น้ำท่วมหนัก ภัยแล้งหนัก หรือมีโรคระบาดอีกครั้ง เราจะไม่เหลือพื้นที่ และงบประมาณที่จะไปรองรับสถานการณ์นั้นได้เลย แต่ที่รัฐบาลกำลังทำอยู่คือทำตัวแบบโนสนโนแคร์ว่าจะทำให้ประเทศต้องไปอยู่ในสภาวะเสี่ยงแบบนี้ ก็เพียงเพื่อทำให้มีเงินมากพอที่จะไปทำโครงการเดียวนั่นก็คือดิจิทัลวอลเล็ตที่ทำให้เราต้องกู้จนเต็มเพดาน 2 ปีติดต่อกัน”น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ส่วนตัวชี้วัดที่ 2 ที่รัฐบาลนี้ทำลายสถิตินั่นก็คือสัดส่วนรายจ่ายลงทุนที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปี ซึ่งนายกฯ ดูเหมือนจะภูมิใจในเรื่องนี้ แต่จริงๆ แล้วดูไม่ใช่เรื่องน่ายินดีขนาดนั้น จริงอยู่ที่เราอยากเห็นการใช้จ่ายที่นำไปสู่การลงทุนออกดอกออกผลมากกว่าที่จะใช้ในการบริโภคหรือรายจ่ายประจำ ซึ่งใช้ไปมันไม่เหลืออะไรให้ดูต่างหน้า ปีนี้ทำได้ 24 % ก็ถือเป็นสถิติที่เป็นด้านดี แต่อย่าเพิ่งดีใจไปที่สัดส่วนรายจ่ายลงทุนสูงขนาดนี้ก็เพราะว่าไปรวมงบดิจิทัลวอลเล็ต มีการตีความว่างบประมาณที่จะใช้สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หรือที่อยู่ในงบกลางรายจ่ายค่าใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ 80% จะเป็นสิ่งที่เรียกว่ารายจ่ายลงทุน คุณพระ เป็นไปได้อย่างไร งบดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งเราก็รู้กันอยู่ว่าส่วนใหญ่จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค แต่บางคนก็อาจจะเอาไปลงทุนก็เป็นไปได้ แต่มันไม่ใช่ 80 % แน่นอน มีส่วนน้อยมากที่จะเอาไปลงทุน ซึ่งเงื่อนไขการใช้เงินไม่ได้จำกัด ว่าต้องเอาไปใช้เพื่อการลงทุน ดังนั้นมันจะเรียกว่ารายจ่ายลงทุนได้อย่างไร ในกรณีดิจิทัลวอลเล็ตตนคิดไม่ออกจริง ทั้งนี้เมื่อคำนวณกันจริง ถ้าเราลองตัดในส่วนที่เป็น 80% ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตออกไป ความจริงก็ปรากฏเพราะว่ารายจ่ายลงทุนของเราคิดเป็นแค่ 20.8 % ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งปริ่มๆ กับเกณฑ์ขั้นต่ำ และใกล้เคียงกับปีก่อนๆ ที่ผ่านมา

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า แต่ยังไม่หมดเท่านั้น มันมีชนวนให้ชวนสงสัยอีกว่า นอกจากจะยัดงบดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไป 80 % เพื่อทำให้รายจ่ายลงทุนมันดูโป่ง ดูดี รัฐบาลอาจจะไปจงใจตัดงบรายจ่ายประจำบางตัวเพื่อเปลี่ยนให้เป็นรายจ่ายลงทุน ตนสันนิษฐานแบบนี้เพราะว่ามันมีรายจ่ายประจำหลายตัวที่จำเป็น แต่ได้งบต่ำกว่าที่จะต้องใช้ รวมๆ แล้ว คิดเป็นเงินประมาณ 167,000 ล้านบาท ซึ่งถ้ารายจ่ายประจำเหล่านี้ได้งบเต็มจำนวน รายจ่ายลงทุนจริงๆ จะเหลือแค่ 16.4 % เท่านั้น โดยมีงบรายจ่ายประจำที่ถูกตัด มากที่สุดคืองบชำระดอกเบี้ยที่ขาดไป 9 หมื่นล้านบาท บำนาญข้าราชการขาดไป 38,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เพิ่งประกาศขึ้นเงินบำนาญข้าราชการที่บอกว่าให้ขั้นต่ำ ไม่ต่ำกว่า 1.1 หมื่นบาททั่วประเทศ แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายให้กับข้าราชการบำนาญ งบรักษาพยาบาลปีนี้ดีขึ้นมาหน่อยขาดแค่ 6,700 ล้านบาท ปีก่อนหน้าขาดถึง 2 หมื่นล้านบาท ค่าชดเชยผู้ประกอบการตามมาตรการสนับสนุนรถอีวีก็ยังจ่ายไม่ครบ แม้เป็นปีที่ 2 ที่ตั้งงบ โดยขาดอยู่ 1.7 หมื่นล้านบาท และกองทุนประชารัฐที่ช็อตเงินอยู่ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นปัญหาทันทีหากเราจำเป็นต้องใช้เงินทั้งหมดนี้ สัดส่วนของรายจ่ายลงทุนก็จะเปลี่ยนแปลงไปทันทีและอาจจะลดต่ำลงกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า พรรคก้าวไกลเราเคยถูกกล่าวหาว่าจะตัดบำนาญข้าราชการ แต่คนที่ตัดจริงคือรัฐบาลนี้ ท่านอาจจะบอกว่าถ้าไม่พอให้ไปใช้งบกลางเอาก็ได้  หรือถ้างบกลางยังไม่พออีก ให้ไปใช้เงินคงคลังเอาก็ได้ แต่ประเด็นของเรื่องนี้คือการจัดอันดับความสำคัญ ถ้าท่านจะให้เจ้าหนี้ที่รอดอกเบี้ยจากข้าราชการบำนาญต้องไปลุ้นของงบกลางหรือไปลุ้นว่าต้องใช้เงินคงคลังหรือไม่ แบบนี้เรียกว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับพวกเขา ที่สำคัญเรื่องนี้มันเกิดขึ้นเป็นประจำแต่ว่าปีนี้มันหนักขึ้นเพราะว่าเราต้องพยายามประดิษฐ์ตัวเลขทุกอย่างให้มันยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังจึงต้องหยิบเอางบในส่วนนี้ที่มันมีเป็นก้อนใหญ่อยู่แล้วเป็นกันชน คอยหยิบเข้า หยิบออกเพื่อให้ตัวเลขมันอยู่ในกรอบและออกมาดูดี

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ปีที่แล้วตนเคยเตือนเอาไว้ว่าอย่าทำพลาดเหมือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะว่างบพวกนี้มักจะถูกตั้งไว้ไม่เพียงพอ และรัฐบาลประยุทธ์  2 ปีติดกันที่ตั้งงบพวกนี้ชำระดอกเบี้ย บำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการเอาไว้ไม่เพียงพอ ทำให้ต้องมีการใช้เงินคงคลังสูงถึงเกือบ 1.2 แสนล้านบาท  สุดท้ายปี 67 ก็เกิดเหตุการณ์ตามที่ได้เตือนไว้จริง ๆ นั่นคือเงินชำระดอกเบี้ยของปี 67 ได้รับการจัดสรรไว้ไม่เพียงพอและต้องไปใช้เงินคงคลังสูงถึง 3.9 หมื่นล้านบาทและคาดว่าน่าจะมีเพิ่มอีกด้วย เพราะงบบำนาญข้าราชการและค่ารักษาพยาบาลตั้งขาดไว้สูงถึง 6 หมื่นล้านบาท พอจะกลับไปใช้งบกลางของปี 67 ก็อาจจะเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะงบกลางต้องถูกกันเอาไว้เพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอีกแล้ว สุดท้ายจึงต้องไปใช้เงินคงคลังและต้องไปชดใช้ในปี 69 ต่อไป

 น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ต่อมาที่เป็นการทำลายสถิติแต่ก็เป็นเรื่องน่ายินดีคือปีนี้จัดงบชำระคืนเงินต้นสำหรับหนี้สาธารณะเอาไว้ที่ 4 %ของงบประมาณ สูงที่สุดในรอบ 20 ปี แต่การใช้หนี้ แต่ต้นไม่ลดดอกก็จะบาน ดังนั้นถ้าอยากให้หนี้ลดไวก็ต้องขยันโปะเงินต้น  ก็ถูกต้องเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม  แต่เรื่องที่น่าประหลาดใจก็คือตอนแรกที่รัฐบาลจัดกรอบงบปี 68 มา 3.6 ล้านล้านบาท ตอนนั้นตั้งงบชำระเงินต้นเอาไว้ประมาณ  1.4 แสนล้านบาท พอขยายกรอบเป็น 3.752 ล้านล้านบาท แทนที่งบชำระเงินต้นจะเท่าเดิม กลับเพิ่มขึ้นและคงสัดส่วนต่องบประมาณเอาไว้เท่าเดิมที่ 4%  แล้วก็ไปลดงบชำระดอกเบี้ยแทน แล้วตนก็ถึงบางอ้อว่าที่ตั้งงบชำระเงินต้นเอาไว้สูงก็เพื่อเอาไปขยายกรอบการกู้ขาดดุล เพราะว่าการกู้ขาดดุลมาจาก 2 ส่วนด้วยกัน คือ จะต้องเป็น 20 %ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี บวกกับอีก 80 เปอร์เซ็นต์ของงบชำระคืนต้นเงินกู้ ซึ่งถ้ายังคงการชำระคืนเงินต้นเอาไว้ที่ 1.4 แสนล้านบาทกรอบก็จะไม่พอที่จะทำดิจิทัลวอลเล็ต

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า สถิติต่อมาคือหนี้สาธารณะต่อจีดีที่สูงที่สุดในรอบ 29 ปี ซึ่งสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเคยสูงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งในช่วงปี 44 ขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 57 เปอรเซ็นต์ แต่ว่ารัฐบาลประยุทธ์เป็นคนทุบสถิตินี้ก่อนในช่วงวิกฤตโควิดปี 64 แต่หลังปี 64 เป็นต้นมาก็ไม่เห็นอีกเลยว่าหนี้สาธารณะมันจะลดลงไปได้ ที่สำคัญประมาณการในเดือน เม.ย.มาถึง พ.ค.เพียง 1 เดือน หนี้สาธารณะก็ขยับขึ้นทั้งแผง และไปทำจุดสูงสุดในปี 70 ที่หนี้สาธาณณะต่อจีดีพีของเราจะพุ่งขึ้นไปสูงถึงเกือบ 69 % ซึ่งเพดานอยู่ที่ 70 % ซึ่งปี 70 นั้นรัฐบาลจะอยู่เป็นปีสุดท้าย แต่พยายามจะส่งมอบหนี้สาธารณะก้อนใหญ่ที่เกือบจะเต็มเพดานนี้ให้กับรัฐบาลต่อไปแบบนี้ ถามว่ามีความรับผิดชอบทางการคลังหรือไม่  เป็นผลของการที่รัฐบาลกู้ชดเชยขาดดุลแบบเต็มแม็กเต็มเพดาน 2 ปีติดกัน ที่พาเรามาถึงจุดนี้ จุดที่แม้ว่าประเทศจะไม่ได้เจอวิกฤตเศรษฐกิจอะไรเลย เราก็อาจจะจำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะกันอีกรอบจาก 70 % เป็นเท่าไรไม่รู้ เพียงเพื่อโครงการเพียงโครงการเดียวคือดิจิทัลวอลเล็ต

น.ส.ศิริกัญญา กลาวต่อว่า ตัวสุดท้ายคือสัดส่วนดอกเบี้ยต่อรายได้ก็สูงที่สุดในรอบ 14 ปี และดูเหมือนจะทำสถิติใหม่ไปเรื่อยๆ ทุกปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี เพราะในส่วนนี้ที่มันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันจะไปเบียดบังงบประมาณในส่วนอื่นๆ ในปีต่อๆ ไป เงินที่จะใช้ในการพัฒนาทำโครงการอื่นก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะต้องมารับภาระดอกเบี้ย เป็นไปอย่างที่ สส.ฝั่งรัฐบาลได้พูดไว้ว่าดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้ทำแค่ครั้งเดียวแล้วจบเพราะว่าผลกระทบของมันจะอยู่กับเราไปยาวๆ ลองคิดดูว่าเก็บภาษี เก็บรายได้ๆ เท่าไร ก็ต้องเอาไปจ่ายดอกเบี้ยไปแล้ว 10 %   ซึ่งตัวชี้วัดที่งบประมาณปี 68 ได้ทำลายสถิติไปอย่างสวยงาม ทุกอย่างสวยงามอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังทุกประการ ไม่มีอะไรผิดพลาดเลย แต่ถ้าตัวชี้วัดแตะขอบบนไต่เส้นไปทุกตัวแบบนี้ มันคือภาวะความเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไม่มีความพร้อม เหมือนคนภูมิคุ้มกันไม่ดี ไม่มีภูมิคุ้มกัน พอมีผลกระทบหน่อยหนึ่งก็เจ็บป่วยรุนแรง อันนี้เป็นเรื่องที่อาจจะไม่ได้เกิดผลกระทบทันที แต่ประเทศที่ดีต้องมีการเตรียมพร้อมในการเตรียมรับมือความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ถึงแม้ว่าปีนี้เราจะเบ่งงบประมาณให้สูงมากถึง 3.752 ล้านล้านบาท แต่ใช้จริงๆ ได้นิดเดียว แค่ประมาณ 1 ใน 4 เพราะว่ามันมีรายจ่ายอื่นๆ ที่เราไปยุ่งหรือตัดลดไม่ได้ เช่น ค่าใช้จ่ายบุคลากรที่ปีนี้ก็สูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้าประมาณ 7 หมื่นล้านบาท งบชำระหนี้ก็สูงขึ้นมาประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ปีนี้รวม 4.12 แสนล้านบาท งบผูกพันที่ดาวน์ไว้แล้วต้องไปผ่อนเขาต่อปีนี้ลดลง อยู่ที่ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท ทำให้งบที่เหลือจริง             และดิจิทัลวอลเล็ตด้วยอีกตัว 1.572 แสนล้านบาท สุดท้ายงบที่จะนำไปพัฒนาประเทศเหลือแค่ไม่ถึง 1 ล้านล้านบาทเท่านั้นเอง ซึ่งเท่าที่ตนติดตามมาในช่วง 10 ปีที่แล้วมันจะอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 แต่ทุกวันนี้หดลงเรื่อยๆ เหลืออยู่แค่ 1 ใน 4 ทางออกทางเดียวมันชี้กลับมาที่ว่าเราจำเป็นที่ต้องเพิ่มรายได้ได้แล้ว ต้องแสดงศักยภาพในการหาเงินให้ประเทศได้แล้ว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า สำนักงบประมาณได้ชี้แจงว่างบประมาณปี 68 สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล 142 ประเด็น ถึง 2.5 ล้านล้านบาท ฟังเผินๆ ดูดีมาก ซึ่ง 142 ประเด็นนั้นสั่งอย่างเดียว แต่ว่าไม่ได้ให้แนวทางในการดำเนินการ  และ142 ประเด็นนี้ก็ไม่ได้มาจากไหนไกลแต่มาจากการแถลงนโยบายของนายกฯ ซึ่งเราได้อภิปรายไปแล้วว่าเป็นการแถลงนโยบายที่ล่องลอยและจับต้องไม่ได้ ตนคิดว่าสุดท้ายน่าจะเป็นเพราะว่าถูกข้าราชการย้อมแมวก็คือเอาโครงการเดิมๆ ในสมัยพล.อ.ประยุทธ์ มาแปะป้ายใหม่ว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ที่พูดอย่างนั้นเพราะว่ามีความพยายามสั่งอย่างเดียว และ 142 นโยบายมันสุดกว้าง สุดล่องลอย สุดท้ายอะไรก็ได้  ไม่ว่าจะเป็น คำกว้างๆ กลวงๆ เช่น วางรากฐานและส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผลักดันการท่องเที่ยว จัดหาแหล่งพลังงานที่เหมาะสม  เป็นต้น โดยโครงการที่เริ่มทำในปี 68 มีแค่ 163 โครงการใหม่ เม็ดเงิน 8,908 บาท ไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ต เท่ากับว่า 67 ท่านยังมีข้ออ้างว่าเข้ามาช้า จัดงบไม่ทัน เดี๋ยวรอ 68 ได้แสดงศักยภาพกันเต็มๆ จุกๆ แต่สุดท้ายแล้วก็คือเหมือนเดิม  ที่เลวร้ายที่สุดคือ 8 วิสัยทัศน์อิกไนท์ไทยแลนด์ไม่ปรากฏรูปธรรมใดๆ ในงบ 68 แต่หนักไปทางพีอาร์เท่านั้น  ทั้งนี้ในเรื่องงบประมาณโครงการซอฟท์พาวเวอร์ที่เป็นกล่องดวงใจ กลับถูกหั่นงบประมาณเหลือแค่ไม่ถึงครึ่งจากที่ขอไปประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เหลือจริงแค่ไม่ถึง 5,200 ล้านบาท เรียกได้ว่าสำนักงบฯ ตัดหมดไม่สนลูกใคร

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ถ้าขับเคลื่อนนโยบายอื่นๆ ได้จริงจังได้สักครึ่งหนึ่งของที่ผลักนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็จะดีมากๆ มันเห็นได้ชัดมากว่าไม่ใช่แค่งบประมาณ ไม่ใช่แค่ภาระการคลัง ไม่ใช่แค่ทรัพยากร มันรวมถึงสมาธิของ ครม.ด้วยที่มันหายไปและถูกทุ่มไปให้โครงการนี้โครงการเดียวคือดิจิทัลวอลเล็ต แต่ว่าเราก็ยังต้องลุ้นกันต่อว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จและจะทำได้หรือไม่  ที่เราพบคือ 1.572 แสนล้านบาทนั้นที่จะนำมาใช้นั้นเป็นการกู้เต็มจำนวน  ไม่มีการบริหารจัดการ และไปตัดลดงบที่จำเป็น และมีการเพิ่มรายการใหม่ขึ้นมาในงบกลาง ซึ่งคิดได้ 3 เรื่อง คือ 1.หาทางหนีทีไล่ไว้ ว่ากรณีที่ท้ายที่สุดไม่ได้ทำก็จะได้เปลี่ยนไปทำเรื่องอื่นได้ง่ายขึ้น 2.ไม่ได้ใส่ไว้ในเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็นที่อยู่ในงบกลางเช่นกัน เพราะใส่แล้วก็จะเกินกรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ให้ไม่เกิน 3.5 % และ 3.หาเจ้าภาพไม่ได้ ก็เลยมาแปะลอยๆ เอาไว้ก่อน “ ท่านไม่ได้เอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงอย่างเดียว เอาประเทศไปเดิมพัน ท่านยังจะเอาข้าราชการประจำไปเสี่ยงกับท่านด้วย และเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) จะใช้ได้หรือไม่ได้ หรือจะเป็นไปตามเจตนาของ ธกส.หรือไม่ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ส่งให้กฤษฎีกาตีความ หรือแม้แต่จะส่งเข้าบอร์ด ธกส.ความก็ยังไม่ทำ และขอฝากไปถึงข้าราชการประจำทุกท่านหากท่านพบว่ามีข้อผิดพลาดขอให้ส่งหนังสือท้วงติงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรต่อความไม่ชอบมาพากลทั้งในด้านกฎหมายและวิชาการก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป”น.ส.ศิริกัญญา กล่าว.