สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครโทรอนโต ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ว่าคอมพิวเตอร์พีซีรุ่นใหม่ ซึ่งผลิตขึ้นเป็นพิเศษเพื่อรองรับโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ วางจำหน่ายแล้ว เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา หลังบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ เร่งผลักดันให้มีการนำเอไอที่ทำงานคล้าย ‘แชตจีพีที’ มาใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้เปิดตัวคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ หรือเอไอ พีซี ที่ใช้ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ ภายใต้แบรนด์ ‘โคไพลอต พลัส’ อนุญาตให้ผู้ใช้เข้าถึงความสามารถของเอไอบนอุปกรณ์ โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบคลาวด์ที่ใช้พลังงานและเวลามากขึ้น และส่งผลให้การใช้เอไอยุ่งยากขึ้น

พีซีประกอบไปด้วยชิปเอ็นพียู หรือหน่วยประมวลผลประสาทเทียม ที่จะช่วยแก้ไขภาพให้คมชัดยิ่งขึ้น, ถอดเสียงสด, แปลภาษา และ “เรียกคืน” ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถติดตาม ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนอุปกรณ์ของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ได้ยกเลิกการติดตั้งระบบดังกล่าวในนาทีสุดท้าย เนื่องจากข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัว พร้อมชี้แจงว่า จะเปิดให้ใช้งานแค่ในการทดสอบเท่านั้น

ขณะนี้ อุปกรณ์ที่สร้างโดยผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อย่างเอชพีและเอซุส ทำงานเฉพาะบนซีพียู หรือโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่ที่เรียกว่า ‘สแนปดรากอน 10’ รุ่นอีลีทและพลัส ซึ่งผลิตโดย ควอลคอมม์ บริษัทผลิตชิปชื่อดัง ซึ่งตั้งอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐ

นายทุรคา มัลลาดี รองประธานอาวุโสของควอลคอมม์ ให้ข้อมูลว่า “บริษัทกำลังกำหนดนิยามใหม่ของแล็ปท็อป” และเขาเชื่อว่ามันจะเป็นการเริ่มต้นของพีซียุคใหม่

ระหว่างงานเปิดตัว เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์คาดการณ์ว่า จะสามารถขายพีซีเอไอได้มากกว่า 50 ล้านเครื่อง ภายใน 12 เดือน เนื่องจากเชื่อมั่นในความสามารถของแชตจีพีที จะช่วยกระตุ้นยอดขายได้ หลังต้องเผชิญกับความซบเซามาเป็นเวลา 2 ปี เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ก่อนที่ยอดขายจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง เมื่อไตรมาสแรกของปีนี้

ไมโครซอฟท์ ผลักดันผลิตภัณฑ์เอไอเชิงสร้างสรรค์อย่างจริงจัง นับตั้งแต่มีการเปิดตัวแชตจีพีที เมื่อปลายปี 2565 โดยมีการนำเอไอมาใช้งานในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพิ่มเติม รวมไปถึงไมโครซอฟท์ ทีมส์, เอาท์ลุค และวินโดวส์

หลังจากนั้น กูเกิลรีบพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนตามหลัง ขณะที่แอปเปิลเพิ่งเข้าสู่การแข่งขันด้านเอไอ เมื่อต้นเดือน มิ.ย. นี้ ด้วยการเปิดตัวเอไอบนไอโฟนพรีเมียม ที่จะวางขายในเร็ว ๆ นี้ ส่วนแมคบุ๊กและไอแพดรุ่นล่าสุด ก็มีความสามารถในการรันเอไอประสิทธิภาพสูงอยู่แล้วเช่นกัน

กระนั้น แอปเปิลโฆษณาประสิทธิภาพของมันช้ากว่าผู้พัฒนายี่ห้ออื่น ๆ “ผมเดาว่า เราคงตกขบวนในการตั้งชื่อมันว่าเอไอพีซี” นายเครก เฟเดอริกี รองประธานอาวุโสฝ่ายวิศวกรรมซอฟต์แวร์ของแอปเปิล กล่าวติดตลก ระหว่างการเปิดตัวแมคบุ๊กรุ่นล่าสุด.

เครดิตภาพ : AFP