เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่วัดกุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายสมคิด จันทมฤก ผวจ.ประจวบฯ เป็นประธานพิธีโครงการมอบกรรมสิทธิ์และไถ่ชีวิตโค-กระบือ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มี นายสัตวแพทย์ทรงพล บุญธรรม ปศุสัตว์จังหวัดประจวบฯ หัวหน้าส่วนราชการ และเกษตรกรในพื้นที่ร่วมพิธี โดย พระราชรัตนวิสุทธิ์ เจ้าคณะจังหวัดประจวบฯ เจ้าอาวาสวัดกุยบุรี นำคณะสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล ตามที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบฯ ได้จัดทำโครงการมอบกรรมสิทธิ์และไถ่ชีวิตโค-กระบือ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดยเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนโครงการฯ ซึ่งในวันนี้ได้มีการมอบกรรมสิทธิ์โคให้แก่เกษตรกร 116 คน โดยเป็นการมอบในกรณีพิเศษคือ เป็นเกษตรกรที่ส่งมอบลูกโค ตัวที่ 1 ที่มีอายุครบ 18 เดือน ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 67 สามารถมอบกรรมสิทธิ์โค-กระบือ ตามสัญญาเพื่อการผลิตได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ระยะเวลาครบตามเงื่อนไขสัญญา คือ 5 ปี แต่อายุสัญญาต้องไม่น้อยกว่า 3 ปี พร้อมสนับสนุนเวชภัณฑ์และแร่ธาตุก้อนให้แก่เกษตรกรที่ได้รับมอบโค นอกจากนี้ ยังได้มีการไถ่ชีวิตโคเพศเมีย 8 ตัว และมอบสัญญายืมโคให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ อ.กุยบุรี อีก 8 ราย

โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งกรมปศุสัตว์รับสนองพระราชดำริ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2522 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีโค-กระบือ ไว้ใช้แรงงานและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ในส่วนของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบฯ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2526 ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้ว 1,204 ราย มอบกรรมสิทธิ์ โค-กระบือ ให้แก่เกษตรกรไปแล้วกว่า 803 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 21 ล้านบาท และยังมีเกษตรกรอยู่ในความดูแลของโครงการกว่า 401 ราย โค 425 ตัว

โครงการดังกล่าว ถือเป็นโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรโดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินงาน ประกอบกับมีการทำงานบูรณาการร่วมกันในพื้นที่อย่างเป็นระบบ สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรและให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งตลอดจนมีการต่อยอดการใช้ประโยชน์ เช่น การใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยในไร่นา การทำก๊าซชีวภาพ การอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่น เป็นต้น.