เมื่อวันที่19 มิ.ย. ที่ห้อง War Room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือข้อเสนอในการทบทวนบทบาทขององค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย โดยมี ดร.อุษณีย์ มหากิจศิริ ผู้อำนวยการกองพัฒนารัฐวิสากิจ 1 นางสาวสุชีรา เงางาม นักวิเคราะห์รัฐวิสาหกิจชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง นางจริยา ชุมพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นางชลิดา พันธ์กระวี กรรมการองค์การตลาด (อต.) กระทรวงมหาดไทย นายบูรณิศ ยุกตะนันทน์ ผู้อำนวยการองค์การตลาด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม .

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เกี่ยวกับการทบทวนบทบาทรัฐวิสาหกิจซึ่งมีผลประกอบการที่ขาดทุน และอาจมีภารกิจทับซ้อน หรือมีการดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวม 8 แห่ง ได้แก่ 1.องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร 2. องค์การคลังสินค้า 3. องค์การสุรา 4.โรงงานไพ่ 5. โรงพิมพ์ตำรวจ 6. อู่กรุงเทพ 7. สหโรงแรมและการท่องเที่ยว และ 8.องค์การตลาด แต่ในข้อเท็จจริงนั้น บทบาทขององค์การตลาด (อต.) กระทรวงมหาดไทย มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องประชุมหารือถึงการดำเนินการดังกล่าวของ สคร. ที่อาจจะส่งผลกระทบถึงการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในวงกว้าง

“บทบาทสำคัญของ อต. ในอีกมุมหนึ่ง คือ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ต้องขังในเรือนจำ และช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้อย่างยุติธรรม อต. ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นคนกลาง ให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตรได้เจอกับผู้บริโภค โดยตรงเเบบไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ผู้ผลิตก็สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้ และขายได้โดยไม่ถูกกดราคา ผู้บริโภคก็ย่อมได้รับสินค้าที่ดีมีคุณภาพ และมีความสุขที่ได้บริโภคสินค้า ส่วนสำคัญ อต. ก็ต้องมาคิดวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้เเข่งขันโดยเสรี ทำให้ได้สินค้าราคาถูก และมีคุณภาพสามารถช่วยผู้ต้องขังได้อย่างแท้จริง ควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อระบายสินค้าที่ล้นตลาด จัดตลาดนัดสัญจร หรือมหกรรมสินค้า และอื่น ๆ ดังนั้น บทบาทของ อต. ต้องไม่ยึดติดกับคำว่า “ตลาด” หรือ ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า เพราะ อต. ไม่ได้ที่มีหน้าที่ในการพัฒนาและบริหารเครือข่ายตลาดภาครัฐ และส่งเสริมตลาดร่วมเอกชนเพียงอย่างเดียว” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำว่า สิ่งที่น่าเป็นกังวลของ อต. คือ การนิยามกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งส่งผลโดยตรงกับการสร้างรายได้ รวมถึงการขยายโอกาส อยากให้มองภาพรวมและคิดทบทวนไปด้วยกันว่า นิยามของ “เกษตรกร” ซึ่งทับซ้อนกับ “การทำการเกษตร” หรือไม่ ขออธิบายเเบบนี้ครับ ร้อยละ 60 ของประชากรไทย ทำอาชีพเกษตร กลุ่มพี่น้องผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน OTOP หรือ หัตถกรรมพื้นบ้าน กลุ่มนี้ คือ เกษตรกร ที่ใช้เวลาว่าง มาสร้างงาน ด้วยการทอผ้า หรือ ผลิตสินค้าชุมชน หรือ ทำอาหารแปรรูปจากภูมิปัญญาท้องถิ่น พวกเขาไม่ได้ทำอุตสาหกรรมเกษตร ดังนั้น หลาย ๆ คน จะติดกับดักที่ว่า “สินค้าเกษตร” คือ ผลิตภัณฑ์พืชผัก ผลไม้ หรือการเลี้ยงปศุสัตว์ เพียงเท่านั้น เเต่มันคือผลิตภัณฑ์ทุกอย่างของเกษตรกร ซึ่งเต็มไปด้วยผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน และเครือข่ายที่พร้อมให้การสนับสนุนชุมชน เช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่สามารถสร้างรายได้ หรือ ขยายคลังความรู้ เพิ่มพูนสิ่งดี ๆ ซึ่งพอมองลึกลงไปกลุ่มลูกค้าของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีก็มีให้เห็นอย่างมากมายมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ยาสูบของชาวเขา น้ำพริก ชาวนา เครื่องจักสาน จากชาวไร่ ฯลฯ ซึ่งมีตัวเลขเป็นวิทยาศาสตร์ ขายอะไรได้บ้าง ขายได้เท่าไร กำไรเท่าไร ต้องการเงินเเหล่งทุนหมุนเวียน เพิ่มหรือไม่ โครงการฯ เหล่านี้เป็นประโยชน์มากกว่าโครงการประชานิยมที่ได้ผลลัพธ์ในระยะสั้น ลองคิดดูว่าได้เงินทุนที่มีดอกเบี้ย 0.01 เงินมันไม่หาย เเต่จะกระจายไปจุดอื่น กลุ่มเดิมที่ได้รับจัดสรรก็อยากเพิ่มยอดขาย 1 ล้าน ก็ขยับขึ้น 2 หรือ 4 ล้าน แล้วถ้าปรับมุมมองว่ากลุ่มลูกค้าของ อต. คือ คนทั้งหมด ถ้ามีการพัฒนาแพลตฟอร์ม e – Market ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในปัจจุบัน ควบรวมกับสินค้า OTOP สินค้าผ้าไทย สินค้าจากภูมิปัญญาจากชาวบ้าน เเล้วนำมาเเสดงบนเเพลตฟอร์ม หรือ Shelf สินค้าออนไลน์ จะสร้างรายได้ให้ชุมชน หรือ ผู้บริโภคอย่างเราจะได้รับประโยชน์จากสินค้าที่มีคุณภาพจากชุมชนได้มากน้อยแค่ไหน อต. กำลังปรับบทบาทเป็น Distributor โดยไม่ได้กำหนด Positioning ตัวเองว่าเป็นเพียง Modern trade เเล้วกิน Margin ของจากคนที่นำสินค้ามาขาย หรือ การให้เช่าพื้นที่ตลาดเพียงอย่างเดียว แม้ว่าในระยะสั้นเรายังคงต้องดำเนินการอยู่ต่อไป เเต่ระยะยาวถือเป็นความท้าทายที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่คนไทย และคนบนโลกในวงกว้าง”

“ฉะนั้น ทั้งผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ต้องไม่ลืม ต้นตอ หรือ หลักคิดในการก่อตั้ง เพราะมีประโยชน์ต่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาองค์กร และต้องให้ความสำคัญ ปรับมุมมองและวิสัยทัศน์ ทำ Workshop พัฒนาบุคลากร เพื่อให้หลุดพ้นจากกรอบคำว่า “การตลาด” แท้จริงแล้ว อต. ถูกสร้างมาเพื่อช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ที่ด้อยโอกาส ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือ ในการเเข่งขัน มีศัพท์อยู่คำหนึ่งไม่ว่าจะยุคไหน ๆ ก็ยังคงทันสมัยอยู่ คือ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” คนที่เป็นเกษตรกรเขาก็ยืนบนหลักคิดนี้ ต้องมองช่องว่างของกระบวนการ ตั้งแต่รับสินค้า ส่งต่อผู้บริโภค ขายส่งออกตลาดใน – นอกประเทศ เพื่อสร้างรายได้ที่ดี ด้วยราคาที่เป็นธรรม ซึ่งการทำให้คนมีรายได้เพิ่ม รายจ่ายน้อย จะเพิ่มโอกาสการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ต้องไม่มองเพียงแค่เเบบ 1+1 = 2 เเต่อยากให้มองแบบ 1+1 = 5 ต้องทำให้คนทุกคนสามารถพึ่งพาตนเอง และสามารถยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้ อต. ต้องไม่ยึดติดกับคำจำกัดความเพียงแค่ว่า พัฒนาแพลตฟอร์มสู่ e-Market ที่มี อต. เป็นเจ้าของอยู่คนเดียว ทำอย่างไรให้คนในชุมชน หรือ Partnership เป็นเจ้าของร่วมกับ อต. แล้วร้านขายของชำ หรือ ร้านโชห่วย ปัจจุบันในชุมชนยังขายได้ หรือไม่ สินค้าเหล่านั้น เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรม และเกิดจากชุมชน หรือไม่ ความมั่นคงของชาติต้องมองข้ามขอบเขตกระบวนทัศน์ (Paradigm) พนักงานประจำ ไปสู่การมองว่า Partnership คือ บุคลากรของเรา เพิ่ม หรือ ลดได้นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของเรา สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นความท้ายทายของความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ โอกาสที่สำคัญคือ ต้องเร่งพัฒนาบุคลากรให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ต้องกำหนดเป้าหมายให้สูงขึ้น เช่น ถ้ารายจ่ายประจำ (Fixed Cost) ของพนักงานหน่วยงาน เพิ่มขึ้น 7.5% คิดเป็นมูลค่าหลักล้านบาทต่อปี ดังนั้น กำไรเราจะต้องกำหนดให้ไกลกว่ารายจ่ายที่เกิดขึ้นในองค์กร” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำ

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการสร้างเครือข่าย (Partner) เราต้องสร้างขึ้นมา อาจด้วยวิธีการรวบรวมผลิตภัณฑ์ นำรายการสินค้า OTOP มีทุกประเภท เปิดเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกรที่อยู่ในหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วมเป็น Distributor แล้ว อต. ปรับบทบาทเป็น ผู้ควบคุมคุมคุณภาพสินค้า และการรับประกัน ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลทางไกล หมู่บ้านนี้ ต้องการซื้ออะไร ต้องการขายในตู้โชว์สินค้า ให้เจ้าของหุ้น คือ ชาวบ้านทุกคน แล้วนำ OTOP 0kdทั่วประเทศ เช่น กะปิ จากเกาะช้าง คลองโคลน จ.สมุทรสงคราม จ.สตูล จ.ยะลา จ.ปัตตานี หรือ หัวไชโป๊ จาก จ.สุรินทร์ หรือ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หรือ น้ำพริกเผา จ.สิงห์บุรี หรือ ผักสดและผลไม้ จากโคก หนอง นา หรือ ข้าวสาร จากทุ่งกุลาร้องไห้ จ.มหาสารคาม จ.บุรีรัมย์ หรือ ยาสีฟัน สบู่ยาสระผม จากผลิตภัณฑ์ OTOP ต่าง ๆ ที่มีเรื่องราว (Story Telling) จุดยุทธศาสตร์ของกระทรวงมหาดไทย คือ การพัฒนาหมู่บ้าน ต้องทำให้เป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เราต้องรีบคว้าโอกาส และขยายโอกาส เพื่อพี่น้องประชาชนทุกคนสิ่งสำคัญที่ผมเน้นย้ำเสมอ คือ ทรัพยากรมนุษย์ เราต้อง Change for Good ทบทวนและสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ด้วย Passion องค์กรภาครัฐทุกหน่วยงานจำเป็นต้องมีการปรับตัว ด้วยการพัฒนาบุคลากรอย่างเต็มสติกำลัง ไม่เช่นนั้นจะตกขบวนรถ เพราะโลกปัจจุบันมันไปเร็วมาก อต. ก็คือคนในครอบครัวมหาดไทย เปรียบเสมือนพี่น้อง ถ้าเป็นพ่อแม่ก็มีหน้าที่ต้องสั่งสอนและส่งเสริมให้ลูกมีความมั่นคงในชีวิต ก็มีหน้าที่ลูกต้องเติบโตและมีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่คนอื่น ๆ ให้กับชีวิตได้อีกหลายชีวิต สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทย ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง