สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ว่าลาวประสบปัญหาการขาดดุลการค้าติดต่อกัน 4 เดือนตั้งแต่เดือน ม.ค. – เม.ย. ปีนี้ และสถานการณ์รุนแรงขึ้นเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่าเป็นประวัติการณ์

ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ลาวส่งออกเป็นมูลค่า 562 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 20,668 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่ารวม 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 24,272 ล้านบาท) ส่งผลให้เกิดขาดดุลการค้าประมาณ 198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,281 ล้านบาท) สูงที่สุดในรอบปี และต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

รัฐบาลลาวเปิดเผยสถิติล่าสุดว่า ‘เกลือ’ เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่ง ด้วยมูลค่า 84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,089 ล้านบาท) รองลงมา ได้แก่ ทองคำผสมและทองคำแท่ง 79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,905 ล้านบาท), แร่ทองแดง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,471 ล้านบาท) และมันสำปะหลัง 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,176 ล้านบาท) และสินค้าชนิดอื่น ๆ ได้แก่ น้ำตาล, กล้วย, ยางพารา, แป้งมันสำปะหลัง และแร่เหล็ก

ด้านสินค้าซึ่งลาวนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ‘น้ำมันดีเซล’ มูลค่า 96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,530 ล้านบาท) รองลงมา ได้แก่ ยานพาหนะทางบก 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,059 ล้านบาท), อุปกรณ์เครื่องจักรกล 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,324 ล้านบาท) และผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,066 ล้านบาท)

‘เวียดนาม’ เป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของลาว ด้วยสถิติ 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,877 ล้านบาท) ตามด้วย ไทย 107 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,930 ล้านบาท) และจีน 103 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,783 ล้านบาท) นอกจากนี้ ลาวส่งออกสินค้ามูลค่า 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,579 ล้านบาท) ไปยังออสเตรเลียและ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 697 ล้านบาท) ไปยังสวิตเซอร์แลนด์

ขณะเดียวกัน ‘ไทย’ ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าใหญ่ที่สุดของลาว โดยมีมูลค่า 336 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 12,341 ล้านบาท) รองลงมา ได้แก่ จีน 213 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,823 ล้านบาท) และเวียดนามที่ 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,212 ล้านบาท) รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 624 ล้านบาท) และเกาหลีใต้ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 440 ล้านบาท)

แม้จะเผชิญกับการขาดดุลการค้า แต่ทางการลาวได้ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมรายได้จากการค้าไฟฟ้า อย่างไรก็ดี การละเลยตัวเลขดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้ง ต่อเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของลาวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25.8 เมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งสูงขึ้นเกือบร้อยละ 1 จากอัตราเงินเฟ้อเมื่อเดือน เม.ย. ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 24.9

นายบุญเหลือ สินชัยวรวงศ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศลาว คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศจะคงอยู่ในระดับสูงจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของรัฐบาล ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2566 ในการลดอัตราเงินเฟ้อลงเหลือร้อยละ 9.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES