เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ห้องประชุมศรีสองรัก ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดเลย อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่อุทยานเทิดพระเกียรติบ้านหมากแข้ง หมู่ที่ 4 ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ (อาจารย์โจ้) ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พร้อมด้วย นายบุญเติม เรณุมาศ นายอนุพงศ์ คำภูแก้ว สิบเอก กิตติคุณ บุตรคุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายสามารถ หมั่นนอก ปลัดจังหวัดเลย นายเจษฎา ปานะถึก หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ 14 อำเภอ นายชัยธวัช เนียมศิริ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมนายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ได้มาติดตามความก้าวหน้าและร่วมพูดคุยกับหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และข้าราชการในพื้นที่จังหวัดเลย ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ในเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งกับประเทศชาติของเรา เพราะจังหวัดเลยในอดีตอาจจะโชคร้ายเพราะเป็นพื้นที่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่มีการต่อสู้โดยใช้กำลัง จนกลายเป็นความโชคดีที่สุดของชาวจังหวัดเลย เพราะจังหวัดเลยกลายเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงได้แสดงถึงพระปรีชาสามารถความเชี่ยวชาญที่กล้าหาญชาญชัย พระองค์ทรงสร้างวีรกรรมที่ไม่เกรงกลัวต่ออันตราย ด้วยการเข้าไปสู่สมรภูมิรบในการช่วยตำรวจภูธร จนเป็นที่ประจักษ์ชัดถึง “วีรกรรมบ้านหมากแข้ง” อันเป็น “สมรภูมิพระราชา”

“ถ้าเปรียบสมัยกรุงศรีอยุธยา เรามีสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงตกอยู่ในวงล้อมของอริราชศัตรู พระองค์ได้ทรงใช้ความเชี่ยวชาญการยุทธในการต่อสู้กระทั่งพระองค์ได้รับชัยชนะจากการชนช้าง ซึ่งพระวีรกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เช่นกัน เพราะหมู่บ้านหมากแข้งตกอยู่ในวงล้อมของผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองไม่สอดรับกับระบอบการปกครองของประเทศไทยในขณะนั้น กระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยเข้าไปอยู่ในพื้นที่สู้รบ เพื่อจะได้ทรงช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรในการต่อสู้ รวมทั้งช่วยเหลือราษฎรที่ตกอยู่ในสมรภูมิรบ ซึ่งตนได้รับรู้รับทราบเมื่อครั้งเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรจิตอาสา 904 “หลักสูตรพื้นฐาน” รุ่นที่ 1/62 พ.ศ. 2562 จากการได้ศึกษากับท่านนายกองเอก ธารณา คชเสนี (ครูป๊อด) ผู้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ที่คนโดยทั่วไปไม่ค่อยรับรู้ เพราะพระองค์ทรง “ปิดทองหลังพระ” ทำให้เมื่อพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจใด ๆ จึงไม่ค่อยได้รับการเผยแพร่ จึงถึงเวลาแล้วที่พวกเราจำเป็นต้องช่วยกัน เพราะพระองค์ทรงเป็นพระประมุขปกเกล้าปกกระหม่อมอาณาประชาราษฎรด้วยทศพิธราชธรรม และทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันกล้าหาญที่เป็นต้นแบบ ทำให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รับรู้รับทราบถึงพระราชประวัติตลอดจนพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน เพื่อที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจรุกรบในการเป็น “จิตอาสา” ผู้เป็นพลเมืองดีของประเทศ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับความโชคดีประการถัดมา คือ เรามี “พื้นที่บ้านหมากแข้ง” เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อจังหวัดเลยในด้านการทัศนศึกษา การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เพิ่มพูนศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน โดยเฉพาะผู้นำท้องที่ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด ช่วยกันทำนุบำรุงให้เกิดการพัฒนาการที่ดีอย่างยั่งยืน และจากการได้ร่วมลงพื้นที่กับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายกองเอก ธารณา คชเสนี (ครูป๊อด) และนายหมวดตรี น้ำเพชร คชเสนี สัตยารักษ์ (ครูปั๊ม) เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ได้แลกเปลี่ยนกับท่านผู้ว่าฯ ในการรวมพลังร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย หนุนเสริมการร่วมลดภาวะโลกร้อน โดยฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารด้วยการเริ่มต้นปลูกไม้ยืนต้น เพื่อที่ในระยะเวลา 5 ปี ก็จะเกิดประโยชน์ ทั้งการทำให้เกิดความร่มรื่น และการส่งเสริมวิถีชีวิตที่คนอยู่ร่วมกับป่าได้ เช่น กาแฟชอบอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ รวมถึงพืชผักสมุนไพรอื่น ๆ ก็ก่อให้เกิดพันธุ์ไม้ในพื้นที่ เกิดต้นไม้นานาชนิดมากขึ้นได้

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้พวกเราทุกคนได้ร่วมกันน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักชัยเครื่องเตือนใจในการปฏิบัติราชการ เพื่อทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่เป็นการขยายความพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ด้วยการ “แก้ไขในสิ่งผิด” ที่พวกเราคนไทยเคยทำผิดพลาด เช่น เรื่องขยะ เรื่องการซื้อหาอาหารผักสวนครัวจากรถพุ่มพวง การเลิกปลูกพืช ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด หรือการซื้อเสื้อผ้าจากโรงงานโดยที่ไม่สนใจไม่สนับสนุนเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจากหัตถศิลป์หัตถกรรมไทย ซึ่งเมืองเลยมีชื่อเสียงมากในเรื่องผ้าฝ้ายเข็นมือ มัดย้อมแบบเทคนิคชิโบริ โดยพวกเราในฐานะข้าราชการจะต้องเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ทำให้พี่น้องประชาชนได้เห็นเป็นตัวอย่าง เพื่อที่จะสามารถเสริมสร้างจิตสำนึกให้กับพี่น้องประชาชน ร่วมเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ อันส่งผลให้พวกเขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมบทบาทของทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ทีมตำบลบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และทีมข้าราชการประจำตำบลร่วมกับคณะสงฆ์ รวมไปถึงส่งเสริมบทบาทเยาวชนจิตอาสาในการทำให้เกิดสิ่งที่ดีในพื้นที่”ขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ และท่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย ที่ได้ร่วมกันทำให้ความหวังของประชาชน เริ่มเห็นเค้าลาง “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทำให้สิ่งที่ประชาชนปรารถนา และขอเป็นกำลังใจให้กับพวกเราทุกคน ในการบูรณาการอย่างสุดความสามารถ เพื่อทำให้พื้นที่แห่งประวัติศาสตร์ พื้นที่แห่งการเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ ได้เกิดประโยชน์อันมหาศาลกับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดเลยและชาวไทยทุกคน และที่สำคัญที่สุด เป็นสถานที่อันเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้น และพระปรีชาชาญอันห้าวหาญของ “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระมิ่งขวัญของพวกเราชาวไทยตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า จังหวัดเลยได้ดำเนินการขับเคลื่อน “บ้านหมากแข้งหมู่บ้านแห่งความยั่งยืน” ร่วมกับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และนายอำเภอทุกอำเภอ โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานขับเคลื่อน จำนวน 2 คณะ คือ 1. คณะกรรมการและคณะทำงานขับเคลื่อนและพัฒนาบ้านหมากแข้ง โดยมีคณะทำงานย่อย 12 คณะ เน้นการพัฒนาแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทุกมิติการพัฒนา อาทิ การปรับปรุงภูมิทัศน์และส่งเสริมการท่องเที่ยว การต่อยอดขยายผลการดำเนินการเกษตรตามโครงการพระราชดำริ การอนุรักษ์และส่งเสริมผ้าทอพื้นเมืองเทิดพระเกียรติและผลิตภัณฑ์ชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน การลงพื้นที่ติดตามครัวเรือนเปราะบาง การขับเคลื่อนและเสริมสร้างความเข้มแข็งหมู่บ้านยั่งยืน การขับเคลื่อนและพัฒนาในด้านการศึกษาและการสาธารณสุข การรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในหมู่บ้าน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ 2. คณะกรรมการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ อุทยานเทิดพระเกียรติบ้านหมากแข้ง โดยมี นายกองเอก ธารณา คชเสนี (ครูป๊อด) และนายหมวดตรี น้ำเพชร คชเสนี สัตยารักษ์ (ครูปั๊ม) ครูจิตอาสาหลักสูตรจิตอาสา 904 เป็นที่ปรึกษา มีผู้ว่าราชการจังหวัดเลยเป็นประธานกรรมการ โดยได้มีการกำหนดจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ อาทิ กิจกรรมดนตรีเพลงพระราชนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติ กิจกรรมการฉายวีดีทัศน์เฉลิมพระเกียรติ กิจกรรมการถ่ายทอดเรื่องราวพระปรีชาสามารถโดยวิทยากรครู ก. ประวัติศาสตร์ชาติไทยและท้องถิ่น กิจกรรมพาหมอพบประชาชน กิจกรรมการจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล กิจกรรมการจัดซุ้มอาหาร และกิจกรรมอื่น ๆ โดยบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและส่งเสริมพัฒนาการกายภาพในทุกมิติควบคู่การพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา รวมถึงการขับเคลื่อนกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ด้วยความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างเต็มกำลังความสามารถ

ด้าน อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ (อาจารย์โจ้) ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากการตรวจข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการนำเสนอข้อมูลของจังหวัดเลย ตนมีความเห็นว่า ขอให้จังหวัดเลยได้ตรวจสอบตรวจทานข้อมูลภูมินามของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และตรวจสอบข้อมูลห้วงเวลาตลอดจนข้อมูลสถานที่และพระราชกรณียกิจอันเนื่องมาจากการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในสมรภูมิบ้านหมากแข้ง ที่ต้องมีการศึกษา ประมวลข้อมูล ห้วงเวลา ร่วมกับมณฑลทหารบกที่ 28 ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบุคคลที่อยู่ในห้วงเวลาดังกล่าวที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยใช้ข้อมูลจากบทสารคดีเฉลิมพระเกียรติ ราชวงศ์จักรี สารคดีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผลิตโดย โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน เป็นหลักในการปรับปรุงข้อมูลที่อาจจะยังมีความคลาดเคลื่อน รวมไปถึงขยายภาพที่ประชาชนโดยทั่วไปไม่เคยเห็น และจะทำสื่อในรูปแบบใหม่ เพื่อให้ประชาชนคนไทย ตลอดจนเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ที่จะได้มีโอกาสมาเรียนรู้ในพื้นที่อุทยานเทิดพระเกียรติฯ แห่งนี้ เพื่อร่วมภาคภูมิใจ ร่วมสำนึกพระมหากรุณาธิคุณ ในพระวีรกรรมอันกล้าหาญนี้ อันเป็นแบบอย่างในการหนุนเสริมทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน ให้คงอยู่กับจังหวัดเลยและประเทศไทยตลอดไป” อาจารย์ขวัญทอง กล่าวเพิ่มเติม