เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ห้องแซฟไฟร์ 105-107 อาคารศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาองค์ความรู้รูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าชาติพันธุ์ตามโครงการ Ethnic Model ผ้าชาติพันธุ์ โดยมี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางอรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ คณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ได้แก่ ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระด้านการจัดการความรู้และสื่อสารการศึกษา นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและผู้เชี่ยวชาญการย้อมสีธรรมชาติ นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านผ้าไทยและเจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูวภวิศ กฤตพลนารา ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ ISSUE และคณะวิทยากร ได้แก่ อ.ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คุณฐาดิณี รัชชระเสวี รองบรรณาธิการนิตยสาร Vogue คุณชนาภา ตรีรัตนชาติ ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ IRADA คุณพีรพงศ์ พงษ์ประภาพันธ์ Art Director บริษัท 1000 Ponies จำกัด คุณจิรัฏฐ์ ทรัพย์พิศาลกุล Style director นิตยสาร Vogue คุณธนาวุฒิ ธนสารวิมล ครีเอทีฟไดเรกเตอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ TANDT และผู้เข้าร่วมอบรมจาก 49 กลุ่ม รวมกว่า 150 คน ร่วมพิธี

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตน และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย มีความสุขทุกครั้งที่ได้มาเปิดงานในวันนี้ เพราะงานเกี่ยวกับผ้าและงานหัตถกรรมเป็นงานที่มีความหมายยิ่งต่อวิถีชีวิตของคนไทย อันมีตัวอย่างในชีวิตจริงที่คนส่วนหนึ่งในสังคมได้ร่วมกันขับเคลื่อน ด้วยการน้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” มาต่อยอดพัฒนาผ้าชาติพันธุ์ ซึ่งคำว่า “ชาติพันธุ์” เป็นคำที่สะท้อนความสวยงาม สะท้อนวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม และอัตลักษณ์เครื่องนุ่งห่มเครื่องแต่งกายที่มีชาติพันธุ์หลากหลาย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญอย่างยิ่งยวดของพวกเราชาวไทย 2 ประการ คือ 1. สังคมไทยเราเป็นสังคมแห่งความรัก ความปรารถนาดี คนไม่ว่าจะเชื้อชาติไหน ศาสนาใด สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และ 2. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมี “พระมหากรุณาธิคุณ” ต่อพวกเราคนไทยที่พระองค์ทรงมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการทุ่มเทสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระผู้ทรงรื้อฟื้นภูมิปัญญาการถักทอผ้าไทยและหัตถกรรมให้กลับคืนมาเมื่อ 50 ปีก่อน จากพระประสบการณ์ที่ปรากฏภาพซึ่งพวกเราทุกคนจะพบเห็นกันอย่างชินตาผ่านข่าวในพระราชสำนักช่วงเวลา 20.00 น. ของทุกวัน คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะโดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงไปปฏิบัติพระกรณียกิจตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ในทุกถิ่นที่ทุรกันดาร พร้อมทั้งทรงซึมซับการเรียนรู้และถูกหล่อหลอมในการทรงงานด้านส่งเสริมหัตถศิลป์หัตถกรรมไทยเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน และเมื่อทรงพระเจริญวัย พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นศึกษาเรียนรู้ด้านงานผ้าและงานดีไซเนอร์ในประเทศต่าง ๆ และทรงกลับมาทำให้สิ่งเหล่านี้มีความมั่นคงเคียงคู่กับประเทศไทยตราบถึงปัจจุบัน อันมีตัวอย่างที่สำคัญปรากฏในงาน OTOP Midyear 2024 ที่สิ้นสุดลงเมื่อวานนี้ คือ ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยสามารถทำรายได้กว่า 400 ล้านบาท จากยอดจำหน่ายรวม 700 ล้านบาท หรือประมาณ 62.8% ของยอดจำหน่ายทั้งหมดมาจากผ้าไทย นอกจากนี้ ในภาพรวมของประเทศ งานผ้าไทยและหัตถกรรมไทย สามารถช่วยคน 10 ล้านคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะไม่ได้มีแค่คนประกอบอาชีพทอผ้าเท่านั้น ยังหมายความรวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย คนมีอาชีพดีไซเนอร์ตัดเย็บเสื้อผ้า โลจิสติกส์ขนส่ง รถรับจ้าง ก็มีรายได้ด้วย

“เรื่องใหญ่ที่เราต้องช่วยกัน คือการมุ่งมั่นตั้งใจในการสืบ รักษา และต่อยอด ภูมิปัญญาผ้าชาติพันธ์ุ ทั้งไทยลาว ไทยทรงดำ ชาวเขา ชาวดอย ผ้าบาติก ผ้าปัก ผ้ามัดหมี่ ผ้ายกดอก ผ้าแพรวา หรือผ้าอื่น ๆ ซึ่งในวันนี้เป็นวันที่เราจะได้มีโอกาสรับฟังคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกในพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยทุกท่านจะมาร่วมถ่ายทอดแนวคิดเป็นภาษาคำพูดควบคู่การฝึกปฏิบัติให้พวกเราเข้าใจได้ง่าย ถ้าเราไม่เข้าใจก็สามารถซักถาม โดยเฉพาะข้าราชการทุกท่านต้องเป็นเหมือน “กามเทพ” ผู้นำสารรักจากพระองค์ท่านไปสู่ชาวบ้านได้อย่างถูกต้อง ควบคู่การนำเสนอไปยังผู้บังคับบัญชาและเพื่อนข้าราชการในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการ delivery สิ่งที่ดีไปสู่พี่น้องประชาชน ดังคำว่า “ผู้นำต้องทำก่อน” ดังนั้น ทุกลมหายใจของข้าราชการมหาดไทยต้องระลึกถึงผ้าไทย นึกถึงสิ่งดี ๆ เพื่อชาวบ้าน ด้วยการลงมือปฏิบัติ มิใช่ทำเพียงสักแต่พูด และต้องคำนึงเสมอว่า ผ้าไทยไม่ได้สะท้อนแค่เรื่องรายได้ชาวบ้านที่เพิ่มพูน แต่เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติที่เราต้องช่วยกันสนองพระดำริเพื่อทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงเรื่องเครื่องนุ่งห่มอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้สอนให้เราล้าหลัง แต่สอนให้เรายืนอยู่บนลำแข้งเราได้ ไม่ว่าจะมีภัยพิบัติหรือมีภัยคุกคามอะไร เราก็จะยังคงอยู่ได้ เพราะเราสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า แลกเปลี่ยนวัตถุดิบภายในประเทศของเราได้ ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องจักร ไม่ต้องพึ่งพาผ้าใยสังเคราะห์จากต่างประเทศ อันจะส่งผลให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ที่ดี ซึ่งการมีรายได้ที่ดีจะทำให้เกิดปลายทางที่ดี คือ “ความมั่นคงของชาติ” เพราะ 1 ในปัจจัย 4 ของมนุษย์ คือ ความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่ม ควบคู่การสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และเสริมสร้างความรัก ความอบอุ่น ทำให้เกิดชีวิตที่ดี เมื่อประชาชนมีความสุขก็ส่งผลทำให้ประเทศชาติมั่นคง โดยคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ตลอดจนถึงผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าทุกท่าน จะได้ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนมีความรู้ไปออกแบบตัดเย็บ พัฒนาผลงาน พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไทย รวมถึงการส่งเสริมการตลาด ที่มีนัยสำคัญในเรื่องส่วนที่เป็น Supply side ที่ยังมีไม่เพียงพอ ดังนั้น เราต้องทำให้มีกี่เพิ่มขึ้น ทำให้มีคนทอผ้าเพิ่มขึ้น มีกลไกกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นทุกด้าน ช่วยกัน Change for Good ทำให้ความเป็นไทยยังคงอยู่ พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะประสบการณ์ไปยังลูกหลาน เพื่อให้มีแนวทางการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ มีทางเลือกในการช่วยเหลือครอบครัว เพื่อทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี”เราทุกคนต้องช่วยกันแสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้นำและเป็นทหารเสือของพระองค์และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการสื่อสารและการลงมือทำ ควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ตามเป้าหมาย UN SDGs ซึ่งมีจุดแตกหักอยู่ที่หมู่บ้าน เราต้องช่วยกันทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ที่มีความมั่นคงในปัจจัย 4 มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย มีการรวมตัวกันพูดคุยเป็นกลุ่มบ้าน ช่วยเหลือเจือจาร มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นจิตอาสาช่วยเหลืองานการของชุมชน สืบทอดวัฒนธรรมประเพณี มีสายใยความรักความเคารพ ถ่ายทอดส่งต่อสิ่งที่ดีไปยังลูกหลานคนรุ่นต่อไป ช่วยกันน้อมนำพระดำริสู่การปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ต้อง “Action Now” เพื่อท้ายที่สุด จะทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

ดร.วันดี กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพวกเราคนไทยทุกคนที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระเมตตาและพระราชทานแนวพระดำริเกี่ยวกับผ้าไทยอย่างครบถ้วน ทั้งเรื่องการ coaching โดยสุดยอดดีไซเนอร์ เทคนิค knowhow การย้อมผ้า การทอผ้า ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีของชีวิตพวกเราทุกคน ดังนั้น พวกเราทุกคนมีหน้าที่ต้องต่อยอด ด้วยการพูดคุย แลกเปลี่ยน จดจำสิ่งที่ดี ขอคอนแทค นำไปพัฒนางานของพวกเรา เป็น “ผู้นำทำก่อน” ร่วมกัน จับมือกันเป็นภาคีเครือข่าย นำทุกองค์ความรู้มาเป็นอาวุธทางปัญญาและการปฏิบัติ เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพราะความรู้ที่อยู่กับตัวเราจะเป็นอาวุธทางปัญญาที่ไม่มีใครเอาจากเราหรือลอกเลียนแบบเราได้ จงใช้โอกาสที่ได้มาพบกับผู้เชี่ยวชาญทุกท่านที่ไม่ได้มีโอกาสง่าย ๆ ทำให้ผ้าชาติพันธุ์อันเป็น product ที่พิเศษ และสวยงาม ที่ขายได้อยู่แล้ว มีความสวยสดงดงาม มีความวิจิตรบรรจงเพิ่มขึ้น ถูกอกถูกใจ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคตลอดไป

คุณธนันท์รัฐ กล่าวว่า เรามักจะได้ยินเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคว่า ผ้าชาติพันธุ์จะมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้ขายได้ยาก คณะทำงานฯ จึงได้นำนโยบายของนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทย จัดกิจกรรมให้พวกเราซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านผ้าได้นำผ้าชาติพันธุ์ไปใช้ โดยจะนำผ้าชาติพันธุ์ไปจัดแสดงในงาน Silk Festival โดยให้ Celebrity มาจัดแฟชั่นโชว์ผ้าชาติพันธุ์ เพื่อส่งเสริมการซื้อผ้าชาติพันธุ์มาตัดเย็บสวมใส่ เป็นกิจกรรมการกุศล ที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในการต่อยอดผ้าชาติพันธุ์สู่ความหลากหลายและความนิยมชมชอบเพิ่มพูนขึ้น

ดร.ศรินดา กล่าวว่า ตนรู้สึกอบอุ่นใจมากมี่มีกิจกรรมในวันนี้ เพราะทุกท่าน ณ ที่นี้ เป็นบุคคลที่เราได้พบปะและคุ้นเคยตลอด 3-4 ปีที่ได้น้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” มาขับเคลื่อน “พวกเราคือครอบครัว” ทั้งทีมที่ปรึกษา คณะทำงาน และผู้ประกอบการทุกท่าน กิจกรรมในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่พวกเราทุกคนจะได้ร่วมกันรื้อฟื้นผ้าชาติพันธุ์และเพิ่มความมั่นใจในความรู้ความสามารถที่ผู้ประกอบการทุกท่านมีอยู่แล้ว วันนี้เราจะมาหาเคล็ดลับและเทคนิคจากทีมที่ปรึกษา เพื่อต่อยอดฝีมือและความสามารถของทุกท่าน แล้วเราทุกคนจะรอชมผลงานทุกท่าน อันเป็นความสำเร็จที่พวกเราทุกคนปรารถนาจะทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นางอรจิรา กล่าวว่า อยากให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาในวงการผ้าไทยให้มากขึ้น มาข่วยกันพัฒนาลวดลายผ้าไทยแบบลายใหม่ ๆ เมื่อมีลายใหม่ เราก็อยากซื้อ คนทั่วไปก็อยากซื้อ เพราะผ้าไทยสามารถตัดแต่งเติมได้หลากหลายรูปแบบ หลากหลายสีสัน และใส่ได้ทุกโอกาส ทั้งทำงาน งานพิธีการ งานรื่นเริง วันนี้พวกเรามาเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนสิ่งใหม่ ๆ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่คนรุ่นใหม่มากขึ้น ดิฉันขอเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่เพื่อให้ผ้าไทยเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ทำให้เมืองไทยที่สังคมปัจจุบันเป็นแหล่งรวมคนรุ่นใหม่ได้มีผืนผ้าไทยชนิดใหม่ ๆ มากที่สุด มากจนเป็นวิถีชีวิตของพวกเราคนรุ่นใหม่ เราต้องเรียนรู้แฟชั่น ดูแฟชั่น แล้วช่วยกันถ่ายทอดส่งต่อไปสู่คนรุ่นเดียวกัน เพื่อความยั่งยืน

นายสยาม กล่าวว่า ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยและนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย คือ ต้นแบบของเป็นผู้สืบสาน รักษา และต่อยอด ผ้าไทย เพราะท่านทั้งสองคือผู้ที่สวมใส่ผ้าไทยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร โดยพวกเราผู้ที่เป็นผู้บริหาร ข้าราชการ ตลอดจนบุคลากรและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ขอปวารณาตนที่จะได้น้อมนำแนวพระดำริ ขับเคลื่อนขยายผลทำให้ผ้าไทยได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอด อย่างยั่งยืน