เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (MRT สายสีเหลือง) ภายหลังเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงเส้นทางที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุรางนำไฟฟ้าหลุดร่วงด้านในค้างอยู่ด้านบนทางเดินยกระดับ (walkway) และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าร่วงลงสู่พื้นด้านล่าง และได้เปิดให้บริการตามปกติครบทั้ง 23 สถานี (สถานีลาดพร้าว-สถานีสำโรง) ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 67 พร้อมกันนี้ได้ร่วมโดยสารขบวนพิเศษ ตรวจเส้นทางจากสถานีหัวหมากไปยังสถานีศรีเอี่ยม (YL17) ด้วย เบื้องต้นพบว่า การให้บริการเรียบร้อยดี ยืนยันว่าขบวนรถ และรางพร้อมใช้งาน และปลอดภัยตามหลักทางวิศวกรรม ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ในการเดินทาง

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท บริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทาน เพิ่มความเข้มงวดตรวจสภาพโครงสร้าง ขบวนรถไฟฟ้า อุปกรณ์ทุกชิ้น เบื้องต้น EBM จะเพิ่มความถี่ตรวจสอบอุปกรณ์รอยต่อ และรางจ่ายไฟที่ติดยึดกับทางวิ่งตามคู่มือซ่อมบำรุง จากเดิมทุก 6 เดือน เป็นทุก 2 เดือน และจุดที่เฝ้าระวังพิเศษ จากเดิมตรวจสอบทุก 2 เดือน เป็นทุก 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังติดตั้งกล้องตรวจจับความผิดปกติของชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ใต้ขบวนรถไฟฟ้า เพื่อตรวจจับความผิดปกติของชิ้นส่วนในระบบราง หากมีตำแหน่งคลาดเคลื่อนจากเดิม จะแจ้งเตือนไปศูนย์ควบคุมการเดินรถ เพื่อประสานผู้เกี่ยวข้องแก้ไขได้ทันท่วงที

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า การเพิ่มการติดตั้งระบบกล้องตรวจจับความผิดปกติดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความแม่นยำและความครอบคลุมการตรวจสอบ นอกเหนือจากการตรวจสอบโดยรถตรวจรางตามปกติก่อนเปิดให้บริการ อย่างไรก็ตามได้มอบให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.), รฟม. และ EBM นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาถอดบทเรียน พร้อมศึกษาแบบอย่างจากต่างประเทศ ในการแก้ไข และป้องกันเพิ่มมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก และประชาชนเกิดความเชื่อมั่น กลับมาใช้บริการตามปกติ ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีบทลงโทษ หรือเอาผิดผู้รับสัมปทานจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า มอบให้ รฟม. ไปพิจารณา และปฏิบัติตามสัญญาฯ ซึ่ง รมช.คมนาคม จะก้าวล่วงจากสัญญาฯ ไม่ได้

ด้านนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ รฟม. รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า EBM ได้ทำการรื้อถอนรางจ่ายกระแสไฟฟ้าและอุปกรณ์ยึดจับราง ที่เสียหายออกจากระบบ เปลี่ยนแผ่นเชื่อมคานทางวิ่ง (Finger Type Expansion Joint) ที่ชำรุด ณ จุดเกิดเหตุช่วงสถานีกลันตัน (YL12)-สถานีสวนหลวง ร.9 (YL15)  ระยะทางประมาณ 5.7 กิโลเมตร (กม.) เป็นชุดใหม่ และนำรางจ่ายกระแสไฟฟ้าชุดใหม่ขึ้นติดตั้งแทนของเดิมทั้งหมด และได้ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยแล้ว อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้ EBM พิจารณาติดตั้งกล้องตรวจจับฯ ในทุกขบวน ทั้งรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ และอยู่ในสภาวะที่พร้อมสำหรับการให้บริการเดินรถแก่ประชาชน

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในทุกปี รฟม. ต้องมีการประเมินประสิทธิภาพในการเดินรถของผู้รับสัมปทานตามตัวชี้วัดต่างๆ เบื้องต้นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จะครบกำหนด 1 ปีประมาณเดือน ก.ค. 67 หลังจากเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ หากผลการประเมินพบว่า การทำงานตามตัวชี้วัดไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด รฟม. สามารถตัดเงินสนับสนุนค่างานก่อสร้างให้ EBM ได้ 5% ทั้งนี้ตามสัญญาฯ EBM จะได้รับเงินค่าสนับสนุนก่อสร้างจาก รฟม. ปีละ 2,505 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี (ปี 66-75) รวม 25,050 ล้านบาท

ขณะที่นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดี ขร. กล่าวต่อว่า ขร. จะยังคงดำเนินการตรวจสอบรอยต่อคานทางวิ่ง (expansion joint) ทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสีชมพูต่อเนื่องต่อไป  โดยจะตรวจเช็กมาร์คหัวนอต เพื่อสังเกตการคลายตัวของนอต การเคาะแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของตัวแผ่นเหล็กจากเสียงที่เกิดขึ้น การใช้อุปกรณ์พิเศษรูปตัวแอล สอดไปบริเวณระหว่างหัวนอตกับแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) เพื่อตรวจสอบนอตที่ไม่แนบแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) หรือการขันทอร์กด้วยเครื่องมือตรวจวัดค่าทอร์กที่มีการสอบเทียบ (calibrate)  เพื่อตรวจสภาพเกลียวของรูนอตก่อนเปลี่ยนนอตใหม่ให้แนบกับแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) เพื่อให้ประชาชนมั่นใจสูงสุดในการใช้บริการระบบราง

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ EBM กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง อยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นคนต่อวัน ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่แรกว่า ผู้โดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนคนต่อวัน เช่นเดียวกับสายสีชมพู ผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นคนต่อวัน ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งกว่าจะถึงเป้าหมายที่วางไว้คาดว่าคงใช้เวลาอีกเป็นปี ผู้สื่อข่าวถามว่า ในปีหน้าจะครบ 2 ปีตามสัญญาสัมปทานฯ ที่ต้องปรับขึ้นค่าโดยสาร จะมีการปรับขึ้นหรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตามปกติก็ต้องปฏิบัติตามสัญญา แต่ขอพิจารณาดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในขณะนั้นอีกครั้ง แต่ตามปกติแล้วจะปรับขึ้นไม่มากประมาณ 1 บาท และปรับขึ้นบางสถานี.