เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ได้โพสต์ข้อความระบุว่า จุดอ่อนของระบบ เลือก สว. แบบนี้

1. การแบ่งกลุ่มอาชีพเป็น 20 กลุ่ม ไม่ได้เป็นไปตามสัดส่วนประชากรแต่ละกลุ่มในสังคมอย่างแท้จริง

2. การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครในแต่ละกลุ่มอาชีพเป็นไปอย่างหละหลวม

3. การให้เลือกเป็น 3 ระดับ อำเภอ จังหวัด ประเทศ เกิดความเหลื่อมล้ำในจังหวัดที่มีอำเภอมากกับอำเภอน้อย

4. การเปิดช่องทางให้ผู้สมัครรู้จักกันทำได้จำกัดและในเวลาที่สั้นมาก

5. จำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนในรอบเลือกไขว้ เป็นจำนวนที่น้อย คือ 20 คน ในขณะที่กลุ่มผู้ถูกเลือกคือ 5 คน ทำให้มีคะแนนที่ได้ใกล้กันมาก ทุกคะแนนมีความหมาย และหลายที่ต้องจับสลาก

6. ไม่มีการเปิดโอกาสให้แนะนำตัวในขั้นรอบไขว้ เนื่องจากไม่มีหนังสือสั่งการให้มีขั้นตอนอย่างเป็นทางการ

7. การออกแบบของ กกต. ให้ตั้งหีบแบ่งตามกลุ่ม ในขั้นเลือกไขว้ ทำให้ตรวจสอบว่าใครลงคะแนน หรือ ไม่ลงคะแนนให้ใครสามารถทำได้ไม่ยาก

8. ปัจจัยความสำเร็จของผู้ได้คะแนนผ่านการคัดเลือก ไม่ได้อยู่ที่ ประวัติ 5 บรรทัด เอกสารแนะนำตัวที่ส่งถึงผู้สมัคร การตั้งกลุ่มไลน์ทั่วไปเพื่อแนะนำตัว การประชุม zoom เพื่อแนะนำตัวอย่างเท่าเทียม หรือ ประสบการณ์ความรู้ความสามารถ

9. ปัจจัยความสำเร็จ อยู่ที่การวางแผนที่ดี ตั้งแต่การเลือกกลุ่มอาชีพ เลือกอำเภอที่สมัคร การสร้าง voters การสร้างเครือข่าย การติดต่อเฉพาะตัว การลงทุนและการเสียสละของ voters

10. ถามว่า เป็นการออกแบบการเลือก สว. ที่ดีไหม คำตอบคือไม่ดีอย่างยิ่ง แต่ถ้าถามว่า ผลการเลือก สว. ระดับจังหวัดเป็นผลที่ดีไหม

คำตอบคือ รับได้ มีสัดส่วนของภาคประชาชนปะปนไปกับนักการเมืองและบ้านใหญ่ประมาณครึ่งต่อครึ่ง และดีกว่าการแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจอย่างแน่นอน  

ต้องรอดูฤทธิ์เดชของการออกระบบในระดับประเทศต่อไป