นพ.สุขุมพันธ์ เก่าเจริญ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ (รพ.นครธน) ได้พูดถึงเรื่องนี้ ผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว Health online by หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ ให้ความรู้ด้านสุขภาพ โดยยกเคสผู้ป่วย เป็นชายสูงวัย เคยเป็นไขมันพอกตับจากดื่มเหล้าเรื้อรัง

โดยคุณหมอสุขุมพันธ์ ระบุข้อความว่า “ชายสูงวัยเคยเป็นไขมันพอกตับจากดื่มเหล้าเรื้อรัง เมื่อก่อนติดตามรักษาที่ รพ. หลังจากนั้นไม่มาตามนัด กลับไปดื่มเหล้ากับกลุ่มเพื่อนเกือบทุกวัน หลายปีต่อมา มาด้วยตาเหลือง ท้องโต ขาบวม น้ำในท้องไหลเข้าช่องปอดทำให้หายใจหอบเหนื่อย มา รพ. ตรวจพบเป็นตับแข็งแล้ว เจาะน้ำในท้องออก 10 ลิตร เจาะน้ำในปอดออก 1 ลิตร เคสนี้ยังคิดในใจว่าน่าจะไม่ไหว โชคดีครั้งนี้คนไข้ยอมเลิกเหล้าเด็ดขาด และทำตามคำแนะนำหมอทุกอย่าง เพื่อนๆ ที่ดื่มด้วยกันเข้าใจ เพื่อนในกลุ่มเสียชีวิตจากโรคตับหลายคนแล้ว ล่าสุดคนไข้ท้องแฟบ ขายุบบวม ค่าตับต่างๆ ดีขึ้น”

วันนี้หมอขอเล่าภาวะน้ำคั่งในท้องจากตับแข็งให้อ่านกัน
1. ภาวะท้องมานคืออะไร?

คือ ภาวะที่มีน้ำสะสมในช่องท้อง โดยแทรกอยู่ระหว่างอวัยวะต่างๆ

2. ภาวะท้องมานเกิดจากสาเหตุอะไร?
คือ สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือเกิดจากภาวะตับแข็ง แต่ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น มะเร็ง ติดเชื้อในช่องท้อง หัวใจวาย

3. อาการของน้ำคั่งในช่องท้องมีอะไรบ้าง?

  • ท้องโตขึ้นอย่างชัดเจน
  • น้ำหนักตัวขึ้น
  • ทานอาหารแล้วรู้สึกแน่น อิ่มเร็ว เพราะน้ำในช่องท้องกดเบียดกระเพาะ
  • ถ้าน้ำในช่องท้องมาก อาจจะไปกดเบียดปอด ทำให้หายใจลำบาก
  • ถ้าติดเชื้อ จะมีไข้ ปวดท้องร่วมด้วย

4. ต้องตรวจยังไง?

  • คุณหมอจะตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยการเคาะที่หน้าท้อง
  • ถ้าสงสัยว่ามีน้ำในท้องจะส่งตรวจอัลตร้าซาวด์ดูเพื่อยืนยัน
  • เจาะน้ำในช่องท้องมาตรวจโดยใช้เข็มเจาะ เพื่อหาสาเหตุว่าน้ำในท้องเกิดจากอะไร และดูว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนร่วมด้วยหรือไม่

5. รักษาเบื้องต้นอย่างไร?

  • งดอาหารเค็ม (จำกัดโซเดียมน้อยกว่า 2 กรัมต่อวัน)
  • พิจารณาทานยาขับปัสสาวะ มักจะให้ยาสองตัวคู่กัน furosemide และ spironolactone โดยเริ่มจากขนาดต่ำๆ และค่อยๆ ปรับขนาดเพิ่มขึ้น
  • งดดื่มสุรา
  • หลีกเลี่ยงยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs เพราะจะทำให้ตับทำงานแย่ลง
  • ระหว่างรักษา ควรชั่งน้ำหนักตัวเป็นระยะ เพื่อดูการตอบสนอง

6. ถ้ารักษาเบื้องต้นแล้วน้ำในท้องยังเยอะอยู่ ทำยังไงดี?

  • อาจจะต้องมาโรงพยายาล เพื่อเจาะระบายน้ำในท้องออกเป็นระยะ เช่น ทุก 2 สัปดาห์ เพื่อลดอาการแน่นท้อง
  • ถ้าจะระบายน้ำในท้องออกปริมาณมากต่อครั้ง ควรให้สาร albumin ทางหลอดเลือดร่วมด้วย เพื่อลดผลแทรกซ้อนจากการระบายน้ำ
  • ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านตับ พิจารณาการรักษาพิเศษอื่นๆ ต่อไป เช่น ตัดต่อเส้นเลือดเพื่อระบายความดันในช่องท้องหรือเปลี่ยนตับ
  • ไม่แนะนำใส่สายระบายคาไว้ที่ช่องท้องแล้วปล่อยน้ำออกเองที่บ้าน เพราะเสี่ยงติดเชื้อและไตวาย

ขอบคุณข้อมูล : Health online by หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ